รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 เด็ก 0-17 ปี ร้อยละ 23 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ซึ่งพบว่าทำให้ลูกต้องเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับโลก โดยสถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญและสนใจประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการหาแนวทางในการแก้ไขโจทย์ทางสังคมระดับโลกดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา
เมื่อศึกษาลึกลงไปพบอีกว่า กรณีที่แม่ไม่อยู่กับครอบครัว ส่งผลกระทบมากกว่าพ่อไม่อยู่ นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยใช้ระเบียบวิธี "วิจัยแบบผสมผสาน" ที่เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยโดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ดุษฎีบัณฑิตของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ข้อมูลที่มีกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ครัวเรือน พร้อมลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล "แม่แรงงานย้ายถิ่น" ในต่างแดนด้วยตัวเอง ทำให้ได้มุมมองซึ่งสามารถผลักดันสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายที่เป็นธรรมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานย้ายถิ่น และครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นได้ต่อไป
จุดที่น่าสนใจ คือ แม้จะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยคอยเติมเต็มความสัมพันธ์ที่ห่างไกล แต่ก็ไม่เทียบเท่าการได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง "ครอบครัวขยาย" ที่มีปู่-ย่า-ตา-ยายอยู่ด้วย จะเป็นที่พึ่งในภาวะดังกล่าวได้ดีที่สุด
การศึกษาของ ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ยังพบอีกว่า ในภาวะที่พ่อหรือแม่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ เด็กผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิตและพฤติกรรมมากกว่าเด็กผู้หญิง เช่น ภาวะสมาธิสั้น และพฤติกรรมเกเร เนื่องจากขาดrole model หรือต้นแบบในการดำเนินชีวิต โดยเด็กผู้ชายส่วนใหญ่มักเกรงใจพ่อและเรียนรู้ตัวแบบที่ดีจากพ่อ และแม้ลูกจะได้อยู่กับปู่-ย่า-ตา-ยาย เมื่อพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานไกลบ้าน แต่ในยามที่ครอบครัวขยายต้องประสบปัญหา ก็ไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับการที่เป็นพ่อแม่ดูแลลูกด้วยตัวเอง
ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสัญญาจ้างงานแรงงานย้ายถิ่นจะเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวในประเทศต้นทาง ซึ่งการใช้ความเห็นอกเห็นใจในการปรับเปลี่ยนข้อตกลงสัญญาว่าจ้าง ที่ส่งเสริมสวัสดิการ และเอื้อให้ครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นได้กลับไปพบหน้ากันมากขึ้น จะทำให้แรงงานย้ายถิ่นมีกำลังใจ ทั้งในการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิต ในขณะเดียวกันนายจ้างยังคงสามารถรักษาแรงงานย้ายถิ่นที่ดีมีคุณภาพเอาไว้ได้เช่นเดิม ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้มวลรวมของทั้งประเทศต้นทางและปลายทางต่อไปได้อีกด้วย
ทำให้การวิจัยซึ่งใช้ชื่อว่า "ผลกระทบจากการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของแรงงานไทยต่อสุขภาพจิตของครอบครัวและประเทศต้นทาง : สถานการณ์การสูญเสียการดูแลและการส่งต่อภาระการดูแลของครัวเรือนที่มีการย้ายถิ่นในประเทศไทย" ผลงานโดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ2564 รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสังคมวิทยา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไปครองได้ในที่สุด
แม้อ้อมอกของพ่อแม่จะอยู่แสนไกล และปู่-ย่า-ตา-ยายจะไม่สามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็อุ่นใจกว่าการที่เด็กต้องโตขึ้นมาเพียงลำพังในช่วงวัยที่ต้องการใครสักคน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมทำหน้าที่เชื่อมต่อ โดยหวังให้เกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์ซึ่งสอดคล้องต้องกันในประชากรทุกกลุ่ม เพื่อการบังเกิดผลสู่ความยั่งยืนได้ต่อไปในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล