พร้อมกันนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน ปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นจำปาป่า ไผ่ มะขาม มะม่วง มะยงชิด กระท้อน พุทรา เงาะ จำนวนกว่า 200 ต้น ในพื้นที่กว่า 5 ไร่ ณ บ้านยางเปียงใต้ ต.ยางเปียง เพื่อมุ่งฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำตามเป้าหมาย 10,000 ไร่ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ระหว่างปี 2565-2569) 6 โมเดล ได้แก่ โมเดล 1 ปลูกป่าต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ โมเดล 2 เกษตรมูลค่าสูง โมเดล 3 ข้าวไร่ 1-2-3 โมเดล 4 กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-Grown Coffee) โมเดล 5 กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โมเดล 6 การศึกษา (ทรูปลูกปัญญา) และโมเดล 7 การอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) โดยในครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมแผนงานในโมเดล 4 การปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ ที่เครือซีพีจะเข้าไปสนับสนุนพร้อมยกระดับองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และแผนงานโมเดล 7 การอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย เพื่อรักษาประชากรกวางผาที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยให้อยู่ในภาวะสมดุลและยั่งยืนต่อไป
นายจอมกิตติ ศิริกุล ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า เครือซีพีและมูลนิธิฯ มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน สำหรับในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของประเทศไทย อีกทั้งยังมีวิถีชาติพันธุ์ โดยเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนกระเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนมากที่สุด ดังนั้น จึงเกิดเป็นโครงการ "อมก๋อยโมเดล" สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เพื่อฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่ อ.อมก๋อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
โดยเครือซีพีและมูลนิธิฯคาดหวังว่า โครงการอมก๋อย โมเดล จะช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ในขณะที่ธรรมชาติและระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟูตามเป้าหมาย 10,000 ไร่ หรือมีต้นไม้ 850,000 ต้น เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรบนป่าต้นน้ำสำคัญ รวมถึงการไม่เผาป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ นำไปสู่การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง จนนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งมีจำนวนนักเรียน 3,333 คน โดยทั้งหมดนี้ คือความตั้งใจในการตอบแทนคุณแผ่นดินของเครือซีพี
สำหรับการปลูกต้นไม้ในครั้งนี้ เป็นแปลงในพื้นที่ "สร้างป่า สร้างรายได้" ของคุณปัญญา สุดใจ ณ บ้านยางเปียงใต้ ต.ยางเปียง โดยใช้แนวคิดเกษตรผสมผสาน จึงได้จัดสรรพื้นที่ปลูกไม้ป่า ไม้ผลและปศุสัตว์ จำนวนกว่า 20 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่กว่า 4 ไร่ ที่เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เข้ามาสนับสนุนกล้าไม้ และร่วมลงปลูกร่วมกับภาคีเครือข่ายและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งการสนับสนุนการทำเกษตรผสมผสานในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้จริง บนพื้นฐานแห่งการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และยังสามารถเพิ่มรายได้จากผลผลิตที่หลากหลายส่วนอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ยังได้ลงพื้นที่แปลงกาแฟ ในโมเดลการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) โดยเครือซีพี จะทำการสนับสนุนด้านองค์ความรู้แก่เกษตรกร ในการพัฒนาการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เกษตรกรมีรายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เป็นเกษตรมูลค่าสูงที่ทำน้อยแต่ได้มาก เป็นพืชเศรษฐกิจ เหมาะกับการปลูกในพื้นที่สูงอย่างภาคเหนือแล้ว ยังสามารถสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยโครงการดังกล่าวฯ มีเป้าหมายพื้นที่ปลูกกาแฟในพื้นที่อมก๋อย รวม 1,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมมีแผนสนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟชุมชน ในนามโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) โดยมีเป้าหมายสร้างกำไรสุทธิให้แก่เกษตรกร 10,000 บาท/ไร่
นอกจากนี้ ยังเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้โมเดลการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาในปี 2565 ภายใต้โครงการ "อมก๋อยโมเดล" ของเครือซีพีและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย โดยมีแผนสนับสนุนการดำเนินงาน อาทิ งานการสำรวจ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์พันธุกรรมของกวางผาในธรรมชาติพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย การสร้างสถานอนุบาลสัตว์และกรงปรับสภาพ การติดตั้งอุปกรณ์กล้องดักถ่ายสัตว์ประสิทธิภาพสูง เพื่อช่วยงานด้านการอนุรักษ์กวางผาที่ใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนปลูกฝัง รณรงค์และให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เด็กและเยาชนในพื้นที่ ในการอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเกื้อกูลและสมดุลอย่างยั่งยืน
ทางด้าน นายครินทร์ หิรัญไกรลาส หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย กล่าวว่า เนื่องจากกวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะระบบนิเวศทางธรรมชาติถูกทำลาย ดังนั้นจึงจำเป็นต่อการรักษาและอนุรักษ์ ด้วยการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการดำรงอยู่ของกวางผา และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ รวมทั้งการรักษาสมดุลระหว่างกวางผาและสัตว์ป่ากับวิถีการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่ โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่เครือซีพี เข้ามาเป็นหนึ่งในภาคีภาคเอกชนที่สนับสนุนแผนการทำงานของสถานีในทุกส่วน ถือเป็นการผนึกกำลังให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้วางไว้ โดยมีแผนงานการจัดประชุมติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานภาพรวมทั้งระบบที่จะส่งเสริมให้คนและสัตว์อยู่ร่วมกันได้โดยมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ยั่งยืนควบคู่กันไป
นายปัญญา สุดใจ หนึ่งในเกษตรกรในโครงการอมก๋อย โมเดล กล่าวว่า การได้รับการสนับสนุนกล้าไม้ ทั้งไม้ป่าและไม้ผลจากเครือซีพี และร่วมกันปลูกในพื้นที่แปลงของตนในวันนี้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานมาช่วยกันปลูก ถือเป็นความตั้งใจและเป้าหมายของตนในการทำเกษตรผสมผสานที่สามารถทำให้ได้ผลผลิตและรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีในพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด โดยหลังจากนี้จะเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอมก๋อย โมเดล และเครือซีพีจะสนับสนุนการดูแลต้นไม้แต่ละชนิด โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้ จะสามารถออกผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพสูงสุด สามารถเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับโครงการอมก๋อย โมเดล และกิจกรรมดังกล่าวฯ ได้รับการสนับสนุนและผนึกกำลังจากภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง อ.อมก๋อย อบต.นาเกียน อบต.ยางเปียง อบต.นาเกียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกลุ่มธุรกิจซีพี ได้แก่ ซีพีเอฟ เจียไต๋ ซีพีออลล์ ซีพีแรม ทรู แม็คโคร และโลตัส โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ พัฒนาชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล พร้อมยังคงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อ.อมก๋อย อย่างยั่งยืน
ที่มา: ซีพีเอฟ