การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า อัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต 'AA+(tha)' ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่น่าจะต่ำกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูงขึ้นในปี 2565 ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะปรับตัวลดลงในปี 2565 เนื่องจากอัตราการเติบโตของความต้องการที่ช้าลง และกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรม ดังนั้นฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC ที่วัดโดยหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net debt/EBITDA) จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าจนถึงปี 2567 แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจะกลับมาเติบโต และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2566
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงขึ้น: อัตราส่วน Net debt/EBITDA ของ PTTGC เพิ่มขึ้นเป็น 3.1 เท่า ณ สิ้นปี 2564 หลังจากการเข้าซื้อกิจการของ Allnex Holding GmbH ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 อย่างไรก็ตามการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนหนี้สินน่าจะช้ากว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากกำไรที่ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน Net debt/EBITDA ของ PTTGC จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับ 3.7 เท่า ในปี 2565 หลังจากนั้นอัตราส่วนหนี้สินน่าจะเริ่มปรับตัวลดลงในปี 2566 และ 2567 แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า แม้ว่าฟิทช์คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของกำไร และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง
กำไรที่ลดลงในปี 2565: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ไม่รวม Allnex จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4-4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 จาก 6.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 โดยส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะปรับตัวลดลงในปี 2565 เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การเติบโตของความต้องการที่ช้าลงและกำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม จะจำกัดความสามารถของบริษัทในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาขายได้
ฟิทช์คาดว่า ค่าการกลั่น (ที่ใม่รวมกำไร/ขาดทุนจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน) จะยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในปี 2565 แต่กำไรของธุรกิจกลั่นน้ำมันของ PTTGC ได้รับผลกระทบจาก Crude premium ที่สูงขึ้น และขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับสูงกว่า ราคาที่กำหนดในสัญญาดังกล่าว โดย PTTGC มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงจำนวน 8.6 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ส่งผลให้ธุรกิจกลั่นน้ำมันมี EBITDA ติดลบ แม้ว่าค่าการกลั่นจะอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 7.6 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล นอกจากนี้การพิจารณาหาแนวทางของรัฐบาลเพื่อช่วยลดผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นต่อผู้บริโภค ในรูปแบบของภาษีจากกำไรที่เพิ่มขึ้น หรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ จากผู้ประกอบการธุรกิจกลั่นน้ำมัน หากมีการดำเนินการดังกล่าว อาจจะมีผลกระทบอย่างมากต่อกำไรของธุรกิจกลั่นน้ำมันของ PTTGC
ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูงขึ้น: PTTGC ได้ปรับเพิ่มแผนการลงทุนในปี 2565 เป็นประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท (ปี 2564 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท) เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพิ่มเติมของ Allnex ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ PTTGC น่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2566 และ 2567 การลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกา ยังคงอยู่ในแผนของบริษัทในการสนับสนุนการเติบโต และเพิ่มการกระจายตัวของธุรกิจ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ของโครงการดังกล่าวน่าจะยังคงไม่เกิดขึ้น จนกว่าบริษัทจะสามารถหาผู้ร่วมทุนในโครงการดังกล่าวได้
ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น: การเข้าซื้อกิจการ Allnex สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ PTTGC ในการเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และการกระจายธุรกิจไปยังธุรกิจเคมีเกรดพิเศษ (Specialty Chemical) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่มีเสถียรภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบพื้นฐานในช่วงที่อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายทางมีความผันผวนที่ต่ำกว่า สัดส่วน EBITDA จากผลิตภัณฑ์เคมีที่มีมูลค่าสูงของ PTTGC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 30 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 หลังจากการเข้าซื้อ Allnex จากระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งทำให้สถานะทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ Allnex จะช่วยให้ PTTGC เข้าถึงลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ PTTGC มียอดขายในระดับจำกัด และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ฟิทช์เชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้ EBITDA ของ PTTGC มีเสถียรมากขึ้น และเพิ่ม EBITDA margin ประมาณร้อยละ 1-2 Allnex เป็นบริษัทผู้ผลิต Resins ที่ใช้ในอุตสาหรรม Coating ชั้นนำของโลก โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย และครอบคลุมอุตสาหกรรมจำนวนมาก
ความสัมพันธ์กับ ปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC ที่ 'AA(tha)' ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท (Standalone Credit Profile) ของ PTTGC ที่ 'a+(tha)' ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแรงจูงใจของบริษัทแม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB+'/ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)'/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านดำเนินงาน (Operational incentive) แก่ PTTGC ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง PTTGC เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญต่อ ปตท. นอกจากนี้ PTTGC ยังเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท. และเป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท.
การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตปิโตรเคมีและน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ นอกเหนือจากนี้ PTTGC ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้
ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ค่าการกลั่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยแหล่ง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจาก ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัท รับวัตถุดิบส่วนใหญ่จาก ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ปตท. และเป็นตัวจักรสำคัญในการขยายธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. โดยเห็นได้จากการที่ ปตท. ได้โอนธุรกิจปิโตรเคมีให้กับ PTTGC ในปี 2560 สถานะเครดิตโดยลำพังของ PTTGC สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและการผลิตปิโตรเคมีที่ใหญ่ของบริษัท รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สถานะทางธุรกิจของ PTTGC แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว
PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) นอกจากนี้ PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า TOP PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายตัวของธุรกิจปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่ามาก
สมมุติฐานที่สำคัญ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565, 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567 และ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568 และหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC;
- กำไรของธุรกิจโอเลฟินส์ ปรับตัวลดลงในปี 2565 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามากดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบ
- ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในภาคการขนส่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การขยายเทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. สิ้นสุดลงในปี 2567 ทำให้เทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบลดลงเป็น 30 วันจาก 90 วัน
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมจำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2565-2566
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม
- รวมงบการเงินของ บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ PTTGC
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- อัตราส่วน Net debt/EBITDA ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วน Net debt/EBITDA ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTTGC มีหนี้ทั้งหมด จำนวน 2.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปี 2565 โดยหนี้จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท จะถึงกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องของ PTTGC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 8.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปี 2565 นอกจากนี้ PTTGC ยังมีวงเงินหมุนเวียนที่ไม่ผูกพัน (Uncommitted line) จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุน ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และสถาพคล่อง ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารจะยังคงต่ออายุวงเงินเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นวงเงินประเภทไม่ผูกพัน เนื่องจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทย
เกี่ยวกับบริษัท
PTTGC เป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และกลั่นน้ำมัน ที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ปตท. โดยมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเคมีจำนวน 14 ล้านตันต่อปี ณ สิ้นปี 2565 และมีกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ 2.8 แสนบาร์เรลต่อวัน
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)