'ตลาดหลักทรัพย์ฯ' ผนึก 'พรินซิเพิล' จัดสัมมนาออนไลน์ครั้งที่ 7 สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนระยะยาว ชูกลยุทธ์ Asset Allocation จัดพอร์ตหลากหลายรับมือความผันผวน

อังคาร ๒๖ กรกฎาคม ๒๐๒๒ ๑๔:๒๙
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ บลจ.พรินซิเพิล จัดสัมมนาออนไลน์ "The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 7 สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ" ชูกลยุทธ์จัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพ รับมือความผันผวนในระยะยาว ชี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปเจอแรงกดดันจากเงินเฟ้อพุ่ง เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มองตลาดหุ้นจีนกลับมาน่าสนใจ จากปัจจัยบวกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ
'ตลาดหลักทรัพย์ฯ' ผนึก 'พรินซิเพิล' จัดสัมมนาออนไลน์ครั้งที่ 7 สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนระยะยาว ชูกลยุทธ์ Asset Allocation จัดพอร์ตหลากหลายรับมือความผันผวน

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 7 สินทรัพย์ดิจิทัลการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณว่า ปัจจุบันการลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณในประเทศไทยมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน และจากการเปลี่ยนแปลงด้านการจ้างงานที่อาจเกิดขึ้น ทำให้การออมเงินด้วยการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อรองรับการเกษียณอายุและการลงทุนอย่างต่อเนื่องภายหลังการเกษียณนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นผู้ลงทุนต้องปรับตัวให้ทัน ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อเรียนรู้และเตรียมพร้อมด้านการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อการเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การลงทุนในอนาคตที่มีแนวโน้มไม่แน่นอนและ
ผันผวนกว่าปัจจุบัน รวมถึงมีทางเลือกการลงทุนใหม่มากขึ้น

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนมีการจัดสรรลงในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันมีนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ได้แก่ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นทางเลือกการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ แต่ก็ต้องอาศัยการศึกษาและเข้าใจถึงความเสี่ยงการลงทุนด้วยเช่นกัน ผู้ลงทุนจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลคืออะไร สร้างผลตอบแทนอย่างไร มีความเสี่ยงระดับไหน เพื่อเลือกลงทุนอย่างเหมาะสมและบรรลุเป้าหมายการลงทุนเพื่อการเกษียณ

นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในช่วงนี้คงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง 9.1% สุดสุดในรอบ 40 ปี จึงมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม และปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมที่เหลือของปี จนอัตราดอกเบี้ยขยับเป็น 3.5% ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 4.25% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ส่วนกำลังซื้อของประชาชนระดับล่างเริ่มชะลอตัว เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มอ่อนแอ เป็นสัญญาณเตือนว่าสหรัฐ ฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ช่วงต้นปีหน้า ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ครั้งแรกในรอบ 11 ปี ในการประชุมเดือนนี้ และมีแนวโน้มขึ้นอย่างต่อ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อในยุโรปจะรุนแรงกว่าสหรัฐ ฯ เพราะได้รับผลกระทบด้านพลังงานโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่ Recession ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จากปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างมาก ส่วนในฝั่งของตลาดหุ้นจีนเริ่มมีทิศทางที่สดใส คาดว่าดัชนีได้ผ่านจุดต่ำสุดของรอบนี้ไปแล้ว เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเชิงรุก มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 1.5 - 1.6% ของจีดีพี รวมทั้งหากจีนผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid ได้สำเร็จจะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจ จึงมองว่าตลาดหุ้นมูลจีนมีความน่าสนใจ ทั้งในแง่ปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยเทคนิก และการประเมินมูลค่า (Valuation) ที่ยังไม่แพง ปัจจุบันมีค่า PE อยู่ประมาณ 12 เท่า จากจุดต่ำสุดที่ 8 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่แพง

ทั้งนี้ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวนและมีความเสี่ยงสูง การจัดพอร์ตลงทุนควรมีกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) และการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ จากสถิติในอดีตพบว่ายิ่งถือครองสินทรัพย์การลงทุนไว้นานก็ยิ่งช่วยลดโอกาสขาดทุนได้มากขึ้น ทาง บลจ.พรินซิเพิล จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พรินซิเพิล สมดุลตามอายุ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ที่ตอบโจทย์การจัดสินทรัพย์เพื่อการเกษียณแบบ Asset Allocation ที่มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายสินทรัพย์ โดยมีนโยบายการลงทุน 2 แบบ ได้แก่ 1) แบบ Target Date ซึ่งจะปรับพอร์ตที่ปรับความระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุอัตโนมัติ โดยวัยเริ่มทำงาน เน้นลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น วัยกลางคน เน้นหาสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง และวัยใกล้เกษียณ เน้นรักษาเงินต้น 2) แบบ Target Risk เป็นการลงทุนตามระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ในลักษณะการลงทุนผ่านกองทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท อาทิ ตราสารหนี้, หุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ, REITs ฯลฯ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการจัดสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนด้วยตัวเอง

"การทำ Asset Allocation จำเป็นมากกับการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ พบว่า 10 ปีย้อนหลัง นโยบายลงทุนแบบ Target Date ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทยที่ 5% ต่อปี แต่มีความผันผวนน้อยกว่าครึ่งนึง แสดงว่าการกำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ในระดับที่เหมาะสมช่วยลดความผันผวนได้ในระยะยาว ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการเกษียณคิดว่ายังไม่เหมาะเนื่องจากมีความผันผวนและความเสี่ยงสูง เช่น บิตคอยน์ที่มีค่าความผันผวนมากกว่า 60% เป็นต้น" นายศุภกร กล่าว

นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin หรือสัญลักษณ์ BTC) สามารถลงทุนระยะยาวได้ แต่ไม่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ เพราะมีความผันผวนสูงมาก โดยการเก็บเงินเกษียณนั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังจากไม่ได้ทำงานประจำ จำเป็นต้องมีการถอนเงินออกมาใช้จ่าย ดังนั้นหากมูลค่าของสินทรัพย์ลดลงมากๆ อาจถูกบังคับให้ขายขาดทุน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสสูญเสียเงินที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต จึงมองว่าบิทคอยน์ (ไม่รวมการลงทุนในสินทรัพย์หรือเหรียญดิจิทัลสกุลอื่น) เหมาะกับการลงทุนระยะยาวเพื่อเป้าหมายในการรักษามูลค่าสินทรัพย์ เพราะบิทคอยน์มีคุณสมบัติที่ถูกออกแบบให้เป็นเงินดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง สามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน ต้านทานเงินเฟ้อและป้องกันการแทรกแซงได้ดี โดยการลงทุนในบิตคอยน์ควรเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนน้อยที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะยาว แต่สิ่งสำคัญคือผู้ลงทุนต้องเข้าใจในสินทรัพย์นั้น ๆ และกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่หลากหลายและเหมาะกับตนเอง

ดร. นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) คริปโทเคอร์เรนซี ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน อาทิ บิทคอยน์, สเตเบิ้ลคอยน์ ฯลฯ โดยการออกเสนอขายคริปโทฯ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. กำกับดูแลในเรื่องการออกเสนอขาย แต่จะกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการลงทุนคล้ายหลักทรัพย์ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้นักลงทุนครั้งแรกนั้น เรียกว่า ICO หรือ Initial Coin Offering ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมเปิดเผย White Paper หรือที่เรียกว่า ไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวน และมี ICO Portal ซึ่งเปรียบเสมือนที่ปรึกษาทางการเงิน ทำหน้าที่ตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ออกและโครงการที่จะระดมทุน และทำหน้าที่ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการตามที่กำหนด แต่จะแตกต่างจากกรณีของหลักทรัพย์ เช่น กรณี IPO หุ้น ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น แต่ ICO ผู้ลงทุนจะไม่มีสิทธิในตัวบริษัทผู้ออก โดยจะได้รับผลตอบแทนที่ผูกกับโครงการนั้น ๆ ปัจจุบันมีการพัฒนาการออก ICO จากเดิมที่อาจเป็นเพียงโครงการที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นการนำทรัพย์สินมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิง (Asset-backed ICO) เพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนจากกระแสรายรับที่เกิดจากทรัพย์สินนั้น เช่น Real Estate-backed ICO ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่ระดมเงินเพื่อไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และนำไปปล่อยเช่าสร้างรายได้ และนำผลประโยชน์มาแบ่งปันให้แก่ผู้ลงทุน (คล้าย REITs) อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยง สำนักงาน ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนใน ICO ได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการเสนอขายแต่ละครั้ง และ 3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการแลกสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่น ๆ เช่น Digital Voucher, Native Token, Governance Token เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่ผู้ถือยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ทันทีหรือเป็นโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จพร้อมใช้งาน จะต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวน และเสนอขายผ่าน ICO Portal แต่ถ้าเป็น Utility Token ที่พร้อมใช้งาน ซึ่งผู้ถือสามารถใช้สิทธิได้ทันทีแล้ว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ได้รับความเห็นชอบเป็น ICO Portal จากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว 7 ราย มีการออก ICO แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ Real Estate-backed ICO และ ICO ที่เป็นการลงทุนในโปรเจคภาพยนตร์ รวมถึงมี ICO อีกกว่า 10 โครงการที่อยู่ระหว่างการหารือ ส่วนในด้านการเปิดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ตามกฎเกณฑ์ปัจจุบันยังไม่สามารถลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการทบทวน ซึ่งในอนาคตหากจะเปิดให้ลงทุนได้นั้น จะต้องพิจารณาระดับที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทด้วย

ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย

'ตลาดหลักทรัพย์ฯ' ผนึก 'พรินซิเพิล' จัดสัมมนาออนไลน์ครั้งที่ 7 สินทรัพย์ดิจิทัลกับการลงทุนระยะยาว ชูกลยุทธ์ Asset Allocation จัดพอร์ตหลากหลายรับมือความผันผวน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ