ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ภายใต้ BCG โมเดล เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชน ขับเคลื่อนพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี พร้อมนำร่องตำบลท่าข้ามเป็นโมเดลพื้นที่บริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้ง/ขยะชุมชน ให้เป็น "Zero waste" และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไปเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีวิสัยทัศน์ คือ เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน พัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ EEC มีเนื้อที่ของจังหวัดกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 3 ล้านไร่ พื้นที่ทั่วไปของฉะเชิงเทราเป็นที่ราบลุ่ม เว้นแต่เพียงบางส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูก ที่ดอนและภูเขาเตี้ยๆ โดยพื้นที่ราบนั้นสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนบริเวณเทือกเขาปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมไปด้วยไม้มีค่าและสัตว์ป่าหายาก ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แม่น้ำบางปะกง ทั้งนี้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองใกล้ทะเล มีส่วนที่ติดกับชายฝั่งยาวถึง 12 กิโลเมตรที่อำเภอบางปะกง ตลอดแนวชายฝั่งคือป่าชายเลนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ พื้นที่ติดทะเลทำให้ฉะเชิงเทราได้รับอิทธิพลจากลมบกและลมทะเลอย่างเต็มที่ และด้วยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้ฉะเชิงเทราชุ่มชื้นด้วยฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล อันนำพาพืชพรรณธัญญาหารให้ผลิดอกออกผลสะพรั่งตลอดปี ความร่วมมือที่มีขึ้นในครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาฉะเชิงเทราที่เข้มแข็งและมั่นคงต่อไป
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือของ วว. และพันธมิตรในครั้งนี้ จะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ วัสดุเหลือทิ้งและการจัดการขยะชุมชนให้เป็น "Zero waste" ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมไปถึงการแปรรูปขยะให้เกิดประโยชน์กับภาคการเกษตร อันจะทำให้เกิดการพัฒนายกระดับให้เกษตรกรและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันจะสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนตลอดจนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
ขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้น 1) ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้ง และการจัดการขยะชุมชนให้เป็น "Zero waste" รวมไปถึงการแปรรูปขยะให้เกิดประโยชน์กับภาคการเกษตร อันจะทำให้เกิดการพัฒนายกระดับให้เกษตรกรและชุมชน ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ตำบลท่าข้ามเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก และจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ 2) ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการขยะและวัสดุเหลือทิ้ง ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 3) ประสานงานและอาศัยทรัพยากรของแต่ละฝ่าย เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูล เครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ วว. นำนโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีผลงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมและนำไปใช้จริงทั้งในบริบทเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคม ความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรจังหวัดฉะเชิงเทราดังกล่าวเป็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการมุ่งมั่นขยายผลโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและมุ่งวิจัยพัฒนาผลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของประเทศไทย
วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล : [email protected] line@TISTR IG : tistr_ig
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย