นายฮิโรโนบุ อิริยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ ทีทีซีแอล กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เดินหน้าก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ล้ำหน้าขึ้นอีกขั้น เพื่อพัฒนาคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดโดยใช้กระบวนการทอร์รีแฟกชัน (Torrefaction) ภายใต้เทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีลิขสิทธิ์เฉพาะของแบล็ควูด เทคโนโลยี ที่พร้อมจะเปลี่ยนชีวมวลคุณภาพต่ำภายในประเทศไทยให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดชนิดทอริไฟด์ (Torrefied pellets) ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดสีดำ (Black pellets) หรือถ่านชีวภาพ (Bio-coal) ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงงานต้นแบบในครั้งนี้ พัฒนาขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีแฟลชทอร์ (FlashTor(R)) อย่างเป็นรูปธรรมให้ลูกค้าเป้าหมายและบริษัทผู้พัฒนาโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลได้เห็นถึงประสิทธิผลของกระบวนการแบบครบวงจร และ 2. เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งานเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดสีดำในปริมาณที่เพียงพอที่จะให้กลุ่มผู้ลูกค้าได้เห็นถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงชนิดนี้ และวางแผนทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมต่อไป
"การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดสีดำ (Black pellets) ถือเป็นการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ทดแทนการใช้ถ่านหิน โดยการพัฒนาโรงงานต้นแบบในครั้งนี้ จะช่วยให้ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้ใช้งานได้เห็นถึงประสิทธิผลและความยั่งยืนของห่วงโซ่การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างครบวงจร ลดข้อกังวลของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีมาก่อนหน้า ในฝั่งของผู้ซื้อก็ยังไม่เคยได้ทดลองใช้พลังงานชีวมวลที่ผลิตโดยเทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" ในขณะที่ฝ่ายผู้ผลิตก็กังวลว่าหากลงทุนสร้างโรงงานปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยกระบวนการทอร์รีแฟกชันแล้วจะมีกำลังซื้อระยะยาวหรือไม่ ดังนั้นการพัฒนาโรงงานต้นแบบจะสามารถแก้ข้อกังวลดังกล่าวได้อย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญโรงงานแห่งใหม่นี้ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงพันธสัญญาในการพัฒนาธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดสีดำ (black pellets) ในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยตั้งเป้าการดำเนินงานระยะแรกในไทยโดยการมุ่งพัฒนาโรงงานเพื่อการพาณิชย์ 6 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 450,000 ตันต่อปี โดยแต่ละแห่งในประเทศไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 75,000 ตันต่อปี" นายฮิโรโนบุ อิริยา อธิบายเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ทีทีซีแอลและแบล็ควูด เทคโนโลยี ได้ประกาศแผนเชิงรุกด้วยการนำเสนอต่อกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงินภายใต้ความร่วมมือ AGGP (Asian Green Growth Partnership) เพื่อสร้างโรงงานปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยกระบวนการทอร์รีแฟกชันที่ใช้เทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" เพื่อการพาณิชย์เป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี พร้อมขยายธุรกิจดังกล่าวเพิ่มทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" ในครั้งนี้ ซึ่งมีหัวใจหลักคือ การใช้ชีวมวลหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มาจากธรรมชาติโดยตรง สอดคล้องอย่างยิ่งต่อโมเดลการพัฒนาประเทศใหม่ของไทยที่มุ่งเน้น BCG Economy ซึ่งหมายรวมถึงเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อนำเศรษฐกิจของประเทศก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) และให้ความสำคัญกับการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิตภาคการเกษตร ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้นั้นเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อนำไปใช้ทดแทนถ่านหิน
ด้านนายมาร์เทน แฮร์รีเบิร์จ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบล็ควูด เทคโนโลยี กล่าวว่า แบล็ควูด เทคโนโลยีได้ร่วมเทคโนโลยี่การออกแบบก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่มีความหยืดหยุ่นสูงทั้งในแง่ของวัตถุดิบที่หลากหลาย และ ด้านการผลิตเพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" สามารถแปรรูปชีวมวลได้หลากหลายชนิด ทั้งชีวมวลจากไม้และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยโครงการนี้เป็นผลงานครั้งแรกภายใต้การร่วมมือกับทีทีซีแอล ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยกระบวนการทอร์รีแฟกชันที่ดีที่สุดของแบล็ควูด เทคโนโลยี มาผสมผสานเข้ากับความชำนาญและประสบการณ์อันยาวนานของทีทีซีแอลในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงงานแบบครบวงจร (Engineering, Procurement and Construction—EPC) ชั้นนำในประเทศไทย อีกทั้งมีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ
นายมาร์เทน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากแผนการของทีทีซีแอลที่จะเปิดโรงงานเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดสีดำ (Black pellets) เพิ่มเติมในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแล้ว แบล็ควูด เทคโนโลยียังได้เจรจากับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสนใจในเทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" ในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความต้องการใช้กระบวนการทอร์รีแฟกชันด้วยเช่นกัน โดยบริษัทฯ ได้นำความโดดเด่นของเทคโนโลยีดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย 1. ความสามารถที่จะขยายกำลังการการผลิตได้ในระดับสูง (Scalability) โดยยังคงไว้ซึ่งความคุ้มค่าในการลงทุน ในขณะที่เทคโนโลยีอื่นทำได้ยาก 2. การควบคุมกระบวนการผลิต (Process Control) ที่ดีจะทำให้การใช้วัตถุดิบและพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทำให้กระบวนการทอร์รีแฟกชันเกิดขึ้นอย่างสมบรูณ์ ลดการสูญเสียในการผลิต และ 3. กระบวนการผลิตที่ปลอดภัย (Safe operation) ทำให้สามารถควบคุมการกระบวนการผลิตได้ดีและยังช่วยให้มีปลอดภัยสูง โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตระดับอุตสาหกรรม จึงมั่นใจได้ว่าทุกกระบวนการของการผลิตนั้นมีความปลอดภัย เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นและการยอมรับนี้เองจะเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี "แฟลชทอร์ (FlashTor(R))" ของเรา"
กระบวนการทอร์รีแฟกชัน
การปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยกระบวนการทอร์รีแฟกชัน (Torrefaction) คือเทคโนโลยีที่จะสามารถเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพสูงด้วยกระบวนการทางความร้อนเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวมวลให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นพลังงานในห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิง ชีวมวลอัดเม็ดสีดำมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพชนิดแข็งที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า โรงงานเหล็ก โรงงานแก๊สซิฟิเคชั่น และ อื่นๆ โดยสามารถใช้เครื่องจักรเดิมที่มีอยู่แล้วโดยมิต้องดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ นอกจากนี้ เชื้อเพลิงอัดเม็ดยังมีความหนาแน่นของพลังงานสูงกว่าชีวมวลโดยทั่วไป ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งในห่วงโซ่อุปทานของชีวมวลต่ำลง
ที่มา: โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น