ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

จันทร์ ๐๑ สิงหาคม ๒๐๒๒ ๑๕:๔๐
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารที่ 'bbb' และอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb' รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสากล: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCB มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากทั้งโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง (ซึ่งสะท้อนจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) และความคาดหวังของฟิทช์ว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคาร (ซึ่งสะท้อนจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากทางรัฐบาล) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ SCB ที่ F2 เป็นตัวเลือกที่สูงกว่าสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB' และสะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนที่มีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ

สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลกระทบโรคระบาด: สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของภาคธนาคาร โดยฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 อันดับคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 'bbb' และ 'แนวโน้มมีเสถียรภาพ' และยังมีคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในกลุ่ม 'bb' แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนโดยใช้ปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ' ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ 'BBB+'/'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' รัฐบาลมีความสามารถและความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมในภาคธุรกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสังเกตได้จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด-19

เครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง: SCB เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทย SCB และมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั่วประเทศและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก SCB มีการดำเนินธุรกิจธนาคารแบบครบวงจรโดยมีความแข็งแกร่งทางการตลาดในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อรายย่อย บริการธุรกรรมทางการเงิน (transactional banking) และการบริหารจัดการกองทุน ฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในหลายกลุ่มธุรกิจของธนาคารจะช่วยเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารมีโอกาศทางธุรกิจและมีความสามารถที่จะทำรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง ฟิทช์ไม่คาดว่าการปรับโครงสร้างกลุ่มของธนาคารจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ยังคงมีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์: อันดับคะแนนตามเกณฑ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอยู่ที่กลุ่มคะแนน 'bb' แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนดังกล่าวโดยใช้ปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ' (collateral and reserve) ซึ่งพิจารณาจากการที่ SCB สามารถรักษาระดับสำรองหนี้สูญให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้มาอย่างต่อเนื่องตลาดวัฎจักรธุรกิจ (through the cycle) โดยธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเฉลี่ยที่ 136% ในช่วงปี 2555-2564 รวมทั้งธนาคารยังมีสินเชื่อที่มีหลักประกันในระดับที่ค่อนข้างสูง

ฟิทช์ปรับแนวโน้มของอันดับคะแนนด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็น 'มีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มเป็นลบ' เพื่อสะท้อนมุมมองของฟิทช์ว่าโอกาสที่คุณภาพสินทรัพย์จะปรับตัวแย่ลงอย่างมากนั้นได้ปรับตัวลดลงแล้ว เนื่องจากกิจกรรมในภาคธุรกิจที่ได้ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งการเติบโตของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาของธนาคารเป็นไปอย่างระมัดระวัง (สินเชื่อเติบโตเฉลี่ยที่ 3.2% ในช่วงปี 2561-2564 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 5%) ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ความสามารถในการทำกำไรเริ่มฟื้นตัว: ฟิทช์มองว่าความสามารถในการทำกำไรของ SCB น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2565-2566 โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของรายได้จากแรงกดดันที่ลดลงในด้านอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและการฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคธุรกิจ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิต (credit cost) คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ระดับ 58% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตในปี 2563

อย่างไรก็ตาม SCB อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างของกลุ่มในช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงคาดว่าอัตราส่วนทางการเงินหลักในด้านรายได้และความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 4 ปี ของธนาคารน่าจะยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเกณฑ์สำหรับอันดับคะแนนในกลุ่ม 'bbb' ( โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 1.5%; ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 อยู่ที่ 2.3%)

เงินกองทุนสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับที่ยอมรับได้: SCB มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 17.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ หรือ D-SIB และฟิทช์คาดว่าธนาคารจะยังคงรักษาระดับเงินกองทุน CET 1 ให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ตามแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่ม SCB คาดว่าต้องจ่ายเงินปันผลพิเศษจำนวนมากแก่บริษัทแม่ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของกลุ่มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 เฉพาะของธนาคารปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15% อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 รวมของทั้งกลุ่มไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักและน่าจะช่วยเป็นปัจจัยหลักในการรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงที่ไม่ได้คาดการณ์

เครือข่ายธุรกิจเป็นปัจจัยหนุนความสามารถในการการระดมเงิน: ความสามารถในการการระดมเงินและสภาพคล่องของ SCB ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานลูกค้ารายย่อยที่แข็งแรง ประกอบกับการที่ธนาคารมีเงินฝากที่ต้นทุนต่ำและมีเสถียรภาพในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง โดยมีบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกและออมทรัพย์คิดเป็น 80% ของเงินฝากรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้สภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ประมาณ 93% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 และมีอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้นต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิใน 30 วัน หรือ LCR ที่สูงที่ 202% ณ สิ้นปี 2564

มีความสำคัญต่อระบบอย่างมีนัยสำคัญ: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCB สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า SCB มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร SCB มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากที่ประมาณ 15% มาเป็นเวลาต่อเนื่อง และธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ SCB เป็น 1 ใน 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและระดับความสัมพันธ์ต่อระบบการเงินในประเทศของธนาคาร อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังพิจารณาถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ซึ่งบ่งชี้ได้จากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดทั้งอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'bbb-' หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวด้อยลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ โดยตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าธนาคารมีระดับการยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าที่ฟิทช์ประเมินหรือโครงสร้างธุรกิจของธนาคารอ่อนแอ่กว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสูงกว่า 6% (ไตรมาสที่ 1ปี 2565: 4.5%) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ที่ต่ำกว่า 13 % รวมทั้งอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% และ/หรือ ไม่สามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สูงกว่า 1.5%

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ SCB ลดลง เช่น จากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการเปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB จะพิจารณาโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจสามารถสนับสนุนให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าอุตสาหกรรมได้อย่างสม่ำเสมอประกอบกับการมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับปานกลาง ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะต้องได้รับแรงหนุนจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและจะเห็นได้จากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญเช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% (ไตรมาสที่ 1 ปี 2565: 2.3%) และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ต่ำกว่า 3% โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุน CET 1 ที่สูงกว่า 16% อย่างไรก็ตามโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินนั้นมีค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงมีความท้าทาย

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารในประเทศ ซึ่งรวมถึง SCB อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม ทั้งนี้หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCB ก็ไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

อันดับเครดิตของตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCB มีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร และได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

อันดับเครดิตของตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน แต่ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะไม่สามารถได้รับการปรับเพิ่มอันดับได้อีก เนื่องจากเป็นระดับที่สูงที่สุดแล้ว

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ'

อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสากลของ SCB เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version