เยาวชนสุดเก่งจากงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 49 ตบเท้าเข้ารับรางวัลผลงานสุดบรรเจิด สร้างหุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ จากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.

พุธ ๓๐ สิงหาคม ๒๐๐๖ ๑๖:๒๕
กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--สวทช.
เช้าวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2549 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่เยาวชนผู้ชนะการแข่งขันจากกิจกรรมการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งใน “ค่ายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ของโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ที่จัดขึ้นในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549 ระหว่างวันที่ 11 - 22 สิงหาคม 2549 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวแสดงความยินดีแก่เยาวชนผู้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ว่า “ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งกับผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลในการสร้างสรรค์หุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ ทั้งเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในหัวข้อ“หุ่นยนต์บริการภายในสวน” และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในหัวข้อ “หุ่นยนต์กู้ภัย” ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ได้นำความรู้พื้นฐานด้านหุ่นยนต์และวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยในการสร้างหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อน และสามารถประยุกต์ใช้งานได้จริง ทั้งยังรู้จักนำเศษวัสดุเหลือใช้รอบตัวมาประยุกต์อันเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำของที่ไม่มีค่ามาดัดแปลงให้เกิดของเล่น และสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งเยาวชนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและแนวคิดสร้างสรรค์ การออกแบบหุ่นยนต์ออกมาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง”
โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน จึงได้จัดกิจกรรมการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้หมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองตามความสนใจและถนัด การศึกษาหาความรู้เพิ่มอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ให้สูงขึ้น เพื่อเติบโตเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม อันจะได้ร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาประเทศของเราให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ”
สำหรับการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้สร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ตามความคิด และจินตนาการบนพื้นฐานความรู้ที่ได้เรียนมาจากทั้งในและนอกห้องเรียน โดยได้คัดเลือกเด็กและเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันจำนวนกว่า 207 คน (จากผู้สมัคร 830 คน) แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 135 คน และมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 72 คน เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งแบ่งเป็นประเภททีม ทีมละ 3 คน (ม.ต้น 45 ทีม และ ม.ปลาย 24 ทีม) แต่ละทีมต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ที่ทางโครงการได้จัดเตรียมไว้ให้ เช่น ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ฝอยขัดหม้อ เชือกฟาง กระป๋องน้ำอัดลม ถ้วยบะหมี่ เป็นต้น และมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้ คือ มอเตอร์ สวิตซ์เปิด-ปิด สวิตซ์กด และรีเลย์ (Relay) วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า โดยมัธยมตอนต้น กำหนดให้ประดิษฐ์ “หุ่นยนต์บริการภายในสวน” (Service Robot) ขณะที่มัธยมตอนปลาย กำหนดให้ประดิษฐ์ “หุ่นยนต์กู้ภัย” (Rescue Robot) โดยจัดให้มีการแข่งขันวันละ 8 ทีม ระหว่างวันที่ 12 - 20 สิงหาคม 2549 ในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549
ทั้งนี้ ผลการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ของ “ค่ายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ได้แบ่งรางวัลเป็นระดับชั้นละ 3 รางวัลได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเยาวชนผู้ได้รับรางวัลชนะในแต่ละสาขา ต่างพากันมารับมอบรางวัลดังกล่าวในวันนี้โดยพร้อมเพรียงกัน
อนึ่ง โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร เป็นโครงการภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. ที่ดำเนินการเป็นศูนย์อบรมและประสานงานเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ และความสามารถในการคิดค้น ค้นหา และตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเตรียมการด้านสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีบรรยากาศการเรียนรู้ที่เหมาะสม เป็นสถานที่รวมกลุ่มเยาวชนมันสมองของประเทศให้ฝึกฝนทักษะการใช้ความรู้ และสร้างนวัตกรรมเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาและการผลิตความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดจนเป็นสถานที่ให้เยาวชนที่มีความสามารถพิเศษได้พบปะและทำงานร่วมกัน โดยมีนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี ที่มีประสบการณ์ร่วมให้คำปรึกษา แนะนำ
รายชื่อทีมที่ได้รับรางวัล
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลที่ได้รับ - ชื่อ — นามสกุล - โรงเรียน
ชนะเลิศ - 1. ด.ช.ชินวัฒน์ เทพหัสดินฯ 2. ด.ช.อัจยุต นิตยวรรธนะ 3. ด.ญ.แพรวา มุขยางกูร - สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม - 1. ด.ญ.วริยา งามอักษรศิลป์ 2. ด.ญ.หทัยรัตน์ ชัยสินโภคทรัพย์ 3. นางสาวพิรญาณ์ วัชรานุวัฒน์กุล - วัดราชโอรส
เทคนิคยอดเยี่ยม - 1. ด.ช.เสกสรร สายสืบ 2. ด.ช.วรัญญู สุยะไชย 3. ด.ช.ศุภชัย คำเขื่อน - เขลางค์นคร
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
รางวัลที่ได้รับ - ชื่อ — นามสกุล - โรงเรียน
ชนะเลิศ - 1. น.ส.ธารารัฏฐ์ เสวกทรัพย์ 2. น.ส.วรดา วุฒิชัยธนากร 3. น.ส.อรปรียา ศิริพิพัฒน์ - บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี2)
ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม - 1. นายชัยพฤทธิ์ ดิษมาณพนรงค์ 2. นายพัฒนพันธ์ ขันเชื้อ 3. นายปิยะวัฒน์ ทันศรี - นวมินทราชูทิศ
เทคนิคยอดเยี่ยม - 1. นายพรเทพ ทักษิณวราจาร 2. น.ส.วันทิพย์ ธิติธนกาญจน 3. นายอภิชัย อนันต์ศิริวงศ์ - บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี2)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
โทรศัพท์ 0-1454-5087, 0-2564-7000 ต่อ 1476 - 8
E-mail: [email protected]
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 111 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476-78 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1470 E-mail: [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ