รายงานผลการศึกษาตามที่ได้รับมอบหมายจาก Workday ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการเงินและทรัพยากรบุคคลสำหรับองค์กร ระบุว่า องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทย (91%) ยังคงล้าหลังในเรื่องของความคล่องตัวทางดิจิทัล (Digital Agility)[1] โดยจัดอยู่ในระดับที่ดำเนินการล่าช้าหรือกำลังวางแผน ซึ่งนับว่าสวนทางกับโอกาสในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) และการปรับใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบอีกด้วยว่า ในแง่ของการสรรหาและดึงดูดบุคลากร ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญถือเป็นหนึ่งในปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรไทย และเป็นอุปสรรคต่อการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
รายงานดัชนีความคล่องตัวทางดิจิทัลของ IDC-Workday สำหรับเอเชีย-แปซิก ประจำปี 2565 (IDC-Workday Digital Agility Index Asia/Pacific 2022) ได้รับการจัดทำร่วมกับ IDC โดยมุ่งเน้นการสำรวจความก้าวหน้าขององค์กรต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ในส่วนที่เกี่ยวกับความคล่องตัวทางดิจิทัลนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 การศึกษาดังกล่าวเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 2563 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินและจัดอันดับองค์กรต่าง ๆ ตามดัชนี Digital Agility Index (DAI) จากคะแนนที่ได้รับ องค์กรจะถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่ม "ผู้นำด้านความคล่องตัว" (Agility Leaders) ถ้าหากองค์กรนั้น ๆ จัดอยู่ในระดับที่มีความคล่องตัว/มีการบูรณาการที่ดี แต่ถ้าหากอยู่ในระดับที่ดำเนินการล่าช้า/กำลังวางแผน ก็จะจัดอยู่ในกลุ่ม "ผู้ตามด้านความคล่องตัว" (Agility Followers)
ไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 9 ตามดัชนีความคล่องตัวทางดิจิทัล โดนอินโดนีเซียแซงหน้า
จากผลการศึกษา พบว่า 9 ประเทศที่ได้รับการสำรวจในภูมิภาค APAC มีระดับความก้าวหน้าด้านความคล่องตัวทางดิจิทัลที่แตกต่างกัน โดยสำหรับองค์กรไทย มีเพียง 9% เท่านั้นที่มีความคล่องตัวทางดิจิทัลในระดับสูง ส่งผลให้ไทยครองอันดับ 9 ตามดัชนี DAI โดยลดลงหนึ่งอันดับเมื่อเทียบกับการจัดอันดับเมื่อปี 2563 ทั้งนี้ ไทยถูกแซงหน้าโดยอินโดนีเซีย ซึ่งครองอันดับ 8 ในปีนี้ เพราะมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เหนือกว่า องค์กรในออสเตรเลียมีความก้าวหน้าสูงสุดในแง่ของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และครองอันดับ 1 ในปีนี้ ส่วนอันดับรองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ขณะที่ไต้หวัน ซึ่งเพิ่งได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้ ครองอันดับ 6 ตามมาด้วยมาเลเซีย
ในมุมมองระดับภูมิภาค พบว่าองค์กรใน APAC มีเพียง 38% เท่านั้นที่มีความคล่องตัวทางดิจิทัลระดับสูง อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 18 จุด (Percentage point) เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วน 62% ขององค์กรใน APAC ที่จัดว่าล้าหลังในแง่ของความคล่องตัวทางดิจิทัล (กล่าวคือ เป็นผู้ตามด้านความคล่องตัว) มีการปรับใช้เทคโนโลยี โดยเป็นผลมาจากความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ และความจำเป็นทางธุรกิจ เช่น อี-คอมเมิร์ซ มาตรการด้านความปลอดภัย และการทำงานจากที่บ้านในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด
การขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญสำหรับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
การขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญในการดำเนินโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นถือเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในไทย โดย 80% ของผู้บริหารฝ่าย HR ประสบปัญหาในการกำหนดทักษะที่เหมาะสมเพื่อรองรับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และมีองค์กรไทยเพียงส่วนน้อย (7%) ที่มีกลยุทธ์การจัดการบุคลากรอย่างรอบด้าน โดยมีการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงาน และใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุความจำเป็นในการฝึกอบรมเพิ่มเติม รวมถึงการพัฒนาอาชีพ ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการลดช่องว่างด้านทักษะความชำนาญของบุคลากร
ขาดการปรับใช้เทคโนโลยีระดับองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความคล่องตัวทางดิจิทัล
การบูรณาการเครื่องมือดิจิทัลและกระบวนการต่าง ๆ อย่างครบถ้วนจะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบทรัพยากรได้อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกได้อย่างเหมาะสม และเพิ่มความคล่องตัวทางดิจิทัล อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน 61% ขององค์กรในไทยเริ่มดำเนินโครงการดิจิทัลต่าง ๆ ที่ระดับของสายงานธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการอย่างทันท่วงที แทนที่จะเป็นการปรับใช้แบบครอบคลุมทุกสายงานในระดับองค์กร ในทางกลับกัน แนวโน้มดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ อีกทั้งปัญหาท้าทายในการปรับใช้เทคโนโลยีก็แตกต่างกันไปในแต่ละฟังก์ชั่นการทำงาน โดยปัญหาท้าทายที่ผู้บริหารฝ่ายไอทีกล่าวถึงได้แก่ การขาดการบูรณาการระบบต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ (40%) และความยากลำบากในการเลือกใช้โซลูชันเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยขับเคลื่อนความคล่องตัวของธุรกิจ (70%) ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารฝ่ายการเงิน (80%) ประสบปัญหาท้าทายในการสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้เงินสดหมุนเวียนมีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้ ทุกวันนี้มีองค์กรไทยเพียง 3% ที่จัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายโดยใช้ระบบปรับปรุงประสิทธิภาพที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรและระบบนิเวศ
ความจำเป็นในการร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารฝ่ายการเงิน ฝ่าย HR และฝ่ายสารสนเทศ
ในโลกวิถีใหม่ที่ถูกชี้นำด้วยระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวทางดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อองค์กรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางในการลดช่องว่างด้านความคล่องตัวทางดิจิทัลโดยอาศัยเทคโนโลยีและการปรับความต้องการทางธุรกิจของแต่ละสายงานให้สอดคล้องกันในระดับของผู้บริหารระดับสูง นอกจากนี้ เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสม องค์กรจะต้องเร่งการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อลดช่องว่างด้านความคล่องตัวทางดิจิทัล และกำหนดแนวทางแบบบูรณาการเพื่อรองรับกลยุทธ์ในการดำเนินงาน โดยผู้บริหารฝ่ายการเงิน ฝ่าย HR และฝ่ายสารสนเทศ จะต้องประสานงานร่วมกันในโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นโดยครอบคลุมหลากหลายสายงาน พร้อมทั้งบูรณาการระบบดิจิทัลสำหรับการจัดการบุคลากร รวมไปถึงระบบงานด้านการเงินและ HR
ความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้
สันดีป ชาร์มา ประธานประจำภูมิภาคเอเชียของ Workday กล่าวว่า "ถึงแม้จะมีความคืบหน้าอย่างมากจากการที่องค์กรต่าง ๆ พัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำด้านความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น แต่องค์กรส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิกยังคงล้าหลังอยู่ ซึ่งนับเป็นโอกาสหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรเหล่านี้เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลได้รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากความคล่องตัวเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นองค์กรที่มีกระบวนการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และมีทักษะด้านดิจิทัลและวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะสม จะมีความพร้อมมากที่สุดในการประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง"
ลอเรนซ์ ชอก รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของ IDC กล่าวว่า "ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้องค์กรจำนวนมากต้องรีบเร่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ความคล่องตัวทางดิจิทัลที่แท้จริงเป็นเรื่องของการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสท่ามกลางสภาพความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยองค์กรต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องถอดบทเรียนจากผู้นำด้านความคล่องตัว และดำเนินการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์อย่างครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร ทั้งในส่วนของวัฒนธรรม บุคลากร กระบวนการ และการปรับใช้เทคโนโลยี"
ดูข้อมูลเพิ่มเติมและรายงานฉบับเต็มได้ที่:
IDC-Workday Digital Agility Index Asia/Pacific 2022 https://www.workday.com/content/dam/web/sg/documents/other/idc-infobrief-thriving-in-uncertainty-how-digital-agility-maximises-business-success.pdf
[1] ความคล่องตัวทางดิจิทัล (Digital Agility) หมายถึง ความสามารถขององค์กรในการปรับตัวอย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดการหยุดชะงักของธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อกู้คืนระบบสำหรับการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งแสวงหาประโยชน์จากสภาวะที่เปลี่ยนไป
เกี่ยวกับรายงานผลการศึกษา
การศึกษาระดับโลกนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบสถานะความคล่องตัวทางดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้รับการมอบหมายจาก Workday และดำเนินการร่วมกับ IDC ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัยข้อมูลตลาดเทคโนโลยีระดับโลก โดยทำการศึกษาในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 และมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบุคคล ฝ่ายไอที และฝ่ายการเงินกว่า 800 คนจาก 9 ประเทศ และ 15 กลุ่มอุตสาหกรรมในเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ ยังได้รับการประเมินสำหรับ 4 มิติของความคล่องตัวทางดิจิทัล (Digital Agility Dimensions) ซึ่งได้แก่ องค์กรและวัฒนธรรม บุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี
เกี่ยวกับ Workday
Workday เป็นผู้นำด้านการให้บริการคลาวด์แอพพลิเคชั่นระดับองค์กรสำหรับการเงินและทรัพยากรบุคคล เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับตัวและประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แอพพลิเคชั่นของ Workday สำหรับการจัดการด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล การวางแผน การจัดการการใช้จ่าย และการวิเคราะห์ข้อมูล ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายโดยองค์กรหลายพันแห่งทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ไปจนถึงกว่า 50% ขององค์กรชั้นนำที่ติดอันดับ Fortune 500 หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Workday คลิกไปที่ workday.com
ที่มา: เอฟเอคิว