ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้านการเงินของประเทศไทยกับ เงินบาทดิจิทัลภาคประชาชน ที่ออกโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail Central Bank Digital Currency หรือ Retail CBDC) โดยเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรปกติ เป็นเงินบาทดิจิทัล ซึ่งมี serial number กำกับ ทำให้การถือ Retail CBDC เทียบเท่ากับการถือธนบัตร อันไม่มีความเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล สิ่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินใหม่ที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากประโยชน์ที่ภาคประชาชนจะได้รับแล้ว ยังเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "กรุงศรีรู้สึกยินดีที่ได้เป็นหนึ่งในธนาคารแรกของประเทศไทยที่จะเปิดทดสอบบริการ Retail CBDC สกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชนในระยะนำร่องช่วงปลายปี 2565 ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นการเปิดทดลองใช้งานในวงจำกัด ถือเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาและขยายผลการใช้งานในระยะต่อไป โดยแผนการทดสอบ Retail CBDC ระยะนำร่องนี้ ที่กรุงศรีเข้าร่วม แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย เป็นการทดสอบใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และ 2. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) เป็นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย เพื่อนำมาปรับปรุงการออกแบบ Retail CBDC ในอนาคตต่อไป
"การพัฒนา Retail CBDC เป็นเรื่องที่ธนาคารทั่วโลกให้ความสนใจ และมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ มีความปลอดภัยสูง สะดวก ค่าเงินไม่มีความผันผวน โดยหนึ่ง CBDC เท่ากับหนึ่งบาท และสามารถเปลี่ยนกลับเป็นเงินสดได้ทันที อีกทั้งยังสามารถต่อยอดนวัตกรรมการชำระเงินใหม่ ๆ ได้ เช่น การชำระสินค้าแบบกำหนดเงื่อนไข (Programmable Payment) ซึ่งกรุงศรีเชื่อว่าจะเป็นการพลิกโฉมระบบการเงินใหม่แห่งโลกอนาคตให้กับประเทศไทย โดยกรุงศรีมีความพร้อมและจะเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินหลักที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ประชาชนไทยได้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หากมีการนำมาใช้ชำระจริงในอนาคต" นายสยามกล่าว
ที่มา: สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์