กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประกาศรายชื่อ ๗ ศิลปิน ๗ สาขา "ศิลปาธร" ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

พุธ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๒๒ ๑๔:๒๘
กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประกาศรายชื่อ ๗ ศิลปิน ๗ สาขา "ศิลปาธร" ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ พร้อมจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติศิลปินศิลปาธร และเผยแพร่องค์ความรู้
กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประกาศรายชื่อ ๗ ศิลปิน ๗ สาขา ศิลปาธร ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร" มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ได้ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจอันมุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยและผลงานได้เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับรางวัล "ศิลปาธร" แล้วทั้งสิ้น ๑ พระนาม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) และอีก ๙๔ รายชื่อ

สำหรับปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้มอบรางวัล "ศิลปาธร" ให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นจำนวน ๗ สาขา ดังนี้

สาขาทัศนศิลป์                     ได้แก่   นายธวัชชัย  พันธุ์สวัสดิ์ 

สาขาสถาปัตยกรรม               ได้แก่   หม่อมหลวง วรุตม์ วรวรรณ 

สาขาวรรณศิลป์                    ได้แก่   นายสถาพร จรดิฐ  หรือเจ้าของนามปากกา จเด็จ กำจรเดช

สาขาดนตรี                         ได้แก่   นายชัยภัค ภัทรจินดา 

สาขาศิลปะการแสดง              ได้แก่   นางสาวศรวณีย์  ธนะธนิต 

สาขาศิลปะการออกแบบ           ได้แก่   นายนครินทร์ ยาโน

และสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ นายลี ชาตะเมธีกุล

ทั้งนี้ "ศิลปาธร" หมายถึง ผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะ หรือผู้รักษาไว้ซึ่งศิลปะ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ดำเนินการสรรหาศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร" นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน รางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินศิลปาธร ประกอบด้วยเข็มเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแสนบาทถ้วน

กระบวนการสรรหาและพิจารณาตัดสิน อยู่ภายใต้การดำเนินงานตามขั้นตอนของคณะกรรมการ คัดสรรฯ และคณะกรรมการตัดสินฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ ในปี ๒๕๖๕ คณะกรรมการคัดสรรศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร" จำนวน ๗ คณะ ได้เสนอรายชื่อศิลปินที่ผ่านการคัดสรร จำนวน ๗ สาขา ให้คณะกรรมการตัดสินฯ ในแต่ละสาขาเป็นผู้พิจารณา และคณะกรรมการตัดสินฯ ได้ดำเนินการตัดสินโดยพิจารณาตามแนวทางการสรรหาและคัดเลือกศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร" ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และเสนอรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการตัดสินให้เป็นศิลปินศิลปาธร ทั้ง ๗ สาขาต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ เพื่อขอรับความเห็นชอบ และคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ ได้ให้ความเห็นชอบผลการพิจารณาตัดสินดังกล่าว

โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จะมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้กับศิลปินทั้ง ๗ ท่าน พร้อมเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแสนบาท พร้อมจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติฯ และกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ของศิลปินศิลปาธร ต่อไป

ศิลปินศิลปาธร นับเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน อันทรงคุณค่า สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมนำมาต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ อุทิศกำลังเวลา ความคิด ทักษะและประสบการณ์ความรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๑๕:๒๐ ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๑๔:๑๗ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๑๔:๔๓ อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ