วว. จับมือ 4 พันธมิตรภาครัฐ/เอกชนจังหวัดภูเก็ต สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับ พืชอัตลักษณ์

พุธ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๒๒ ๑๘:๑๔
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายเรวัตร อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และ นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย "การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต" โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี เพื่อบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
วว. จับมือ 4 พันธมิตรภาครัฐ/เอกชนจังหวัดภูเก็ต สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับ พืชอัตลักษณ์

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต เป็นการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นโยบายการพัฒนาประเทศ มีการนำงานวิจัยและพัฒนาลงพื้นที่ ซึ่งกระทรวง อว. มีนโยบายมุ่งตอบโจทย์ยกระดับภูมิภาค ผ่านการดำเนินงานโดย วว. ที่จะเข้ามาเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากภูมิภาคอื่นๆ เป็นหลัก เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานร่วมกันจะทำให้จังหวัดภูเก็ตสามารถผลิตไม้ดอกไม้ประดับสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ภายในจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่รองรับและมีความหลากหลายของพันธุ์พืชที่พร้อมจะทำให้การดำเนินงานโครงการนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมในฐานะที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีธรรมชาติสวยงาม นอกจากนี้ยังจะสามารถส่งไม้ดอกไม้ประดับที่ผลิตได้ไปจำหน่ายในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้ยั่งยืน

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า วว. ดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพและแนวทางการใช้ประโยชน์จากพืชสกุลไทรร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งเป็นเครือข่ายสถานศึกษาที่ให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านไม้ดอกไม้ประดับ ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ จนกระทั่งปลายน้ำ จึงได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตรในจังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร ไม้ดอกไม้ประดับ อาหาร เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาด รวมทั้งพัฒนาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ธรรมชาติของจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งร่วมกันเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และบูรณาการส่งเสริมการตลาด จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากไม้ดอกไม้ประดับและทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ตให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง ชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรไว้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อันจะ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมตามแผนการพัฒนาประเทศต่อไป

ทั้งนี้ วว. มีภารกิจหลักด้านวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการวิจัยพัฒนาและบริการวิเคราะห์ทดสอบโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดย วว. ได้ดำเนินโครงการแผนการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีการสำรวจพบว่าพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีพรรณไม้หลากหลายที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด มีธุรกิจโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับในการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับงานบริการด้านต่างๆ เช่น สปา ร้านอาหาร และคาเฟ่ มีการใช้ไม้ดอกไม้ประดับจัดภูมิทัศน์ทั้งภายในและภายนอกโรงแรม เพื่อสร้างจุดขายและความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาพรรณไม้พื้นถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ พร้อมกับนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้แก่ชุมชนและจังหวัด

"...นับตั้งแต่เริ่มมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยมีทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนมากขึ้น หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้สำเร็จบรรลุได้ตามเป้าหมายคือ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย ประเด็นการเกษตรสร้างมูลค่า ซึ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ความหลากหลายของสินค้าเกษตร และการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับและเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกระทรวง อว. ที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวหน้าทันยุคสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญของกระทรวง อว. โดย วว. และพันธมิตรที่จะร่วมกันดำเนินงาน Area Basedให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้..." รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว

นายเรวัตร อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า บทบาทของ อบจ.ภูเก็ต ภายใต้ความร่วมมือนี้มุ่งส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน เข้าร่วมโครงการให้ได้มากที่สุด และนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อลดภาระการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่และได้เรียนรู้วิธีการเพาะปลูกจากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถนำไปสร้างอาชีพที่มั่นคง

ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า ในต่างประเทศไม้ดอกไม้ประดับเป็นจุดเช็กอินที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งให้จังหวัดภูเก็ตมีจุดเช็กอินใหม่และเพิ่มสีสันของจังหวัดด้วยไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวให้สำเร็จและยั่งยืน

นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ในบทบาทของผู้ประกอบการด้านโรงแรมจะนำไม้ดอกไม้ประดับที่ผลิตได้จากโครงการเข้ามาใช้ในการตกแต่งจานอาหารและเครื่องดื่ม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการบริโภค ทั้งนี้จะมีความร่วมมือกับ วว. ในการนำร่องจัดการสัมมนาและฝึกอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสมาชิกผู้ประกอบการของสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เพื่อปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ยุคนิวนอร์มอล และเพิ่มมูลค่า ความน่าสนใจ ให้กับอาหารและเครื่องดื่มด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่จังหวัดภูเก็ตผลิตได้เอง

วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ  ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร  ผู้ประกอบการ  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  โทร.  0   2577 9000  โทรสาร    0  2577   9009    เว็บไซต์    www.tistr.or.th     E-mail  : [email protected]    line@TISTR    IG : tistr_ig

 

 

 

     

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

วว. จับมือ 4 พันธมิตรภาครัฐ/เอกชนจังหวัดภูเก็ต สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับ พืชอัตลักษณ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ