"WHAUP" โชว์กำไรปกติไตรมาส 2/2565 โต 280% QoQ จ่อลุย น้ำ-ไฟฟ้า ขยายธุรกิจครึ่งปีหลัง

พฤหัส ๑๑ สิงหาคม ๒๐๒๒ ๐๙:๐๔
บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ("WHAUP") โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ 837 ล้านบาท และกำไรปกติ 264 ล้านบาท รับดีมานด์การใช้น้ำ-ไฟฟ้าพุ่ง ด้าน CEO "สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ" ลุยขยายการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภค(น้ำ) - ธุรกิจไฟฟ้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จ่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดันผลการดำเนินงานเติบโตตามเป้าที่วางไว้
WHAUP โชว์กำไรปกติไตรมาส 2/2565 โต 280% QoQ จ่อลุย น้ำ-ไฟฟ้า ขยายธุรกิจครึ่งปีหลัง

บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ("WHAUP") แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2565 ว่า บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 837 ล้านบาท และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) 264 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 280% จากไตรมาส 1/2565 โดยการเพิ่มขึ้นของกำไรปกติเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามีสาเหตุหลักจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น และการรับรู้รายได้จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามกำไรปกติในไตรมาส 2/2565 ลดลงเล็กน้อย 1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ในขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 มีจำนวน 205 ล้านบาท ลดลง 17% จากไตรมาส 2/2564 เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 1,445 ล้านบาท ลดลง 8% และมีกำไรปกติ จำนวน 333 ล้านบาท ลดลง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีกำไรสุทธิจำนวน 283 ล้านบาท ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ("WHAUP") เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภค ในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาส 2/2564 ในขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มียอดจำหน่ายน้ำและบริหารน้ำรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศเท่ากับ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 12% เนื่องจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจในประเทศ ทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่จากกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มปิโตรเคมี ในขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) ไม่ว่าจะเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) นั้นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ ในครึ่งหลังของปี 2565 จะมีโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูงกับ Gulf TS3&4 กำลังการผลิต 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3/2565 นี้ และโครงการซื้อขายน้ำปราศจากแร่ธาตุ กับ บริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีกำลังการผลิตกว่า 790,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายน้ำได้ในไตรมาส 4/2565

ขณะที่ธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนามก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากโครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) และบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) โดยในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมเท่ากับ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มียอดจำหน่ายน้ำรวมเท่ากับ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 22% เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่ทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเวียดนามหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ธุรกิจพลังงาน ในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 247 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 อันเป็นผลมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ค่า Ft ที่ปรับขึ้นในเดือน พ.ค.ยังไม่สะท้อนการเพิ่มของต้นทุนดังกล่าวทั้งหมด ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วัน จำนวน 14 วัน อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าในไตรมาส 2/2565 ปรับตัวดีขึ้น 467% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ปรับตัวลดลงในไตรมาส 2 รวมถึงการปรับขึ้นค่า Ft ขึ้นสำหรับช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค. 2565 และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วัน อย่างไรก็ตามสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 นั้น บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 290 ล้านบาท ลดลง 35%

ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นั้น บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้พอร์ตเติบโตต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้จากธุรกิจ Private PPA กว่า 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เปิดดำเนินการแล้วกว่า 60 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์รวมแล้ว ทั้งสิ้น 125 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยรวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภท (Contracted Capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมแตะที่ระดับ 676 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าต่อยอดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ หรือ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "WHAUP" ยังได้กล่าวตอกย้ำถึงภาพรวมการขยายธุรกิจในครึ่งหลังของปี 2565 ว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) และธุรกิจไฟฟ้าใหม่ๆ โดยเฉพาะ ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุน (M&A) ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และโครงการประเภท Green Field โดยการนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไปต่อยอดการลงทุนต่อไป เพื่อผลักดันให้บริษัทฯ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ และมั่นคงควบคู่ไปพร้อมกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

"บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า ครึ่งหลังของปีนี้ธุรกิจยังมีการเติบคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตาม Demand ของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กอปรกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล เป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวกต่อ WHAUP ในฐานะผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคในนิคมฯ ในส่วนของ Solar Rooftop มีแนวโน้มเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายสะสมที่ 150 เมกะวัตต์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ ในขณะที่หากมีการปรับเพิ่มค่า Ft ตามที่ กกพ. ได้ประกาศออกมา อีก 68.66 สตางค์สำหรับรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 65 ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน"

นอกจากนี้ในไตรมาส2 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการเสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวม 2,800 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) จำนวน 1,800 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อพื้นฐานธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงิน ตลอดจนศักยภาพการเติบโตของบริษัทฯ รวมทั้งยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มาโดยตลอด

ที่มา: มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย