โดยได้รับเกียรติจาก อธิการบดีและตัวแทน ๑๐ สถาบัน ร่วมลงนามในความร่วมมือ ประกอบด้วย
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยพะเยา
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- สถาบันพระบรมราชชนก
- วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
การลงนามในครั้งนี้ เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่ตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนารูปแบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น ให้บุคคลที่ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาโดยไม่ต้องลาศึกษาหรือเว้นจากการปฏิบัติงานประจำ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาต่างถิ่นที่อยู่ อันจะส่งผลให้มีนักฉุกเฉินการแพทย์ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ และเพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเป็นต้นแบบในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นได้ในอนาคต
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยา โดยคณะแพทยศาสตร์ เรามีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ อยู่แล้ว ซึ่งได้เปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เดิมที ชื่อหลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน หลังจากนั้นทางสภาวิชาชีพได้เข้ามาเปลี่ยนให้เป็นฉุกเฉินการแพทย์ การผลิตบัณฑิตด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินออกไปนั้น ปัจจุบันเราเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งวิชาชีพนักฉุกเฉินการแพทย์กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญ ต้องขอขอบคุณที่ได้ทำการเปิดหลักสูตรที่เรียกว่า Higher Education Sandbox โดยการร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ ที่ผ่านมาสามารถผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ได้เพียงปีละ 30 คนต่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนที่น้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ทำอย่างไรถึงจะสามารถผลิตได้เยอะให้เพียงพอ ดังนั้นการจัดพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวจึงมั่นใจว่าเมื่อได้เข้าร่วมมือร่วมใจกันก็จะสามารถผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ได้พอกับจำนวนความต้องการของสังคมได้มากขึ้น
นักฉุกเฉินการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประชาชน ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มเติม คาดว่าหลังจากนี้ ประเทศไทยจะมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ระดับสูง ซึ่งมีผู้ปฏิบัติการที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา