นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 305 ล้านบาท หรือ 83% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวมอยู่ที่ 366 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงเติบโต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ทำให้การส่งมอบงานในมือมีปริมาณสูงขึ้น และการประมูลงานใหม่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง โดยในงวดไตรมาส 2 ปีนี้ มีการรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างโครงการสายส่งระบบ 115kV ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ควบคู่การบริหารจัดการต้นทุนที่รัดกุม ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 47.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5 ล้านบาท หรือ 127% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 15.9% อัตรากำไรสุทธิ 7.05% ขณะที่ผลประกอบการในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565) มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,182 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 70.36 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการนำเสนอผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง พร้อมด้วยการจัดการต้นทุนที่เหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์ และส่งมอบงานโครงการได้ตามแผน สะท้อนมาที่ความสามารถในการทำกำไรในระดับที่ดี แม้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าขนส่งและราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ไม่กระทบบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน นายเจษฎ์กรณ์ มงคลศรีสวัสดิ กรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและขาย บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนการเข้าประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐบาลที่กำลังจะเปิดการประมูลในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 มูลค่ารวมกว่า 1,195 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟรางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และ รถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมเชียงราก ทำให้มองว่างานส่วนใหญ่ที่ถูกชะลอจากสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มกลับมาเดินหน้าประมูลงานใหม่และส่งมอบได้ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีแผนเตรียมเข้าประมูลงานภาคเอกชนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทเติบโตขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,100 ล้านบาท
ชูจุดแข็ง STECH เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดคอนกรีตอัดแรง มีโรงงาน 10 แห่ง กระจายอยู่ครอบคลุมภูมิภาคสำคัญของประเทศ พร้อมรองรับความต้องการของลูกค้าในเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ขณะที่ล่าสุด บริษัทฯ ประกาศข่าวดี ได้เปิดแท่นผลิต 5 เพื่อขยายกำลังการผลิต โรงงานดอนพุด จังหวัดสระบุรี โดยใช้เงินจากการระดมทุนไอพีโอ นับเป็นอีกกำลังเสริมทัพในการเข้ารับงานในโซนภาคกลาง รวมถึงโปรเจกต์ EEC สนับสนุนให้ปัจจุบัน STECH มีกำลังการผลิตคอนกรีตอัดแรงรวมอยู่ที่ประมาณ 430,000 คิวต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 30% เป็นโอกาสการเติบโตในอนาคต
นายเจษฎ์กรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในแง่โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตลวดเหล็ก ซึ่งมีมูลค่าโครงการราว 320 ล้านบาท ที่ดำเนินการผ่านบริษัทย่อยของ STECH คือ บริษัท สยามสตีลไวร์ จำกัด ประเภทธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายลวดเหล็ก ปัจจุบันได้มีการออกแบบโรงงาน และสั่งเครื่องจักรที่ทันสมัยจากประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่รักษาสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มการรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่ได้ในช่วงไตรมาส 3/2566 ซึ่งสินค้าใหม่ราว 50% จะใช้ในการพัฒนาโครงการของบริษัท และที่เหลือดำเนินการขายให้กับลูกค้าส่วนต่างๆ อีกทางหนึ่ง เพื่อเข้าสู่การสร้าง New S-Curve ในธุรกิจใหม่ และการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าลวดนับเป็นประมาณ 20-30% ของต้นทุนการผลิต และจะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สร้างฐานกำไรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ที่มา: ไออาร์ พลัส