ดร. สมบัติ เสริมว่า แม้ว่าโควิดยังคงมีการระบาดอยู่ แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานและวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว รวมถึงอาการของโรคเดี๋ยวนี้ก็ไม่รุนแรงเหมือนช่วงแรกๆ ประชาชนมีการปรับตัวกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ มีการเดินทางกันมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณรถที่ใช้ ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,027,594 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33 และปริมาณผู้โดยสารในไตรมาสนี้เฉลี่ยทุกประเภทวันอยู่ที่ 230,730 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 93 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และในวันทำการปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 300,000 เที่ยวต่อวันแล้ว
นอกจากนี้ BEM ยังคงดูแลผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องโดยร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดยคงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในราคาเดิม เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ยังคงให้ส่วนลดสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% สำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และขยายเวลาจำหน่ายโปรโมชั่นเที่ยวโดยสาร 30 วัน สำหรับเดินทางในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง (PL Adult Pass) สายสีน้ำเงิน (BL Adult Pass) หรือเดินทางข้ามทั้ง 2 สาย (ML Adult Pass) อีก 1 ปี ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
เพื่อเป็นการกระตุ้นการเดินทางที่ปลอดภัย ในปี 2563 BEM ได้มีโครงการแจกหน้ากาก 1 ล้านชิ้น ปี 2564 มอบวัคซีนกว่า 30,000 เข็มสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน และ ในปี 2565 แจกสเปรย์แอลกอฮอล์ ฟรี 1 ล้านชิ้น ต่อยอดนโยบายภาครัฐ "เปิดเมืองปลอดภัย" ภายใต้แนวคิด "Be Safe Be Happy"
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า BEM มีความพร้อมและศักยภาพ ทุกๆ ด้าน ในการบริหาร การเดินรถไฟฟ้า และบริษัทฯ มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นคุณสมบัติและความสามารถในการเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในครั้งนี้ รวมถึงความพร้อมเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่กำลังรอสัญญาณจากภาครัฐในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนต่อไป
ที่มา: ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ