ประเด็นสำคัญ
- ความยั่งยืนในแง่มุมของแต่ละองค์กร กลยุทธ์ การดำเนินงาน และแนวทางสู่ความสำเร็จ
- การนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
- กรณีศึกษาของรูปแบบการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน
- คำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจที่อยากก้าวสู่ความยั่งยืน
พลปิยะ ฐิติเวส ผู้อำนวยการการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน): ตอกย้ำพันธกิจขององค์กรเรื่องการสร้างสรรค์และแบ่งปันมูลค่าของการเติบโต (Creating and Sharing Value of Growth) ผ่านนวัตกรรมต่างๆ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการบริหารงานภายใต้ 2 กรอบปฏิบัติใหญ่ ได้แก่ UNSDG (หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ) ควบคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดรับกับกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด ESG ที่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล และเพื่อให้เห็นภาพของความยั่งยืนในทุกๆ ขั้นตอนการดำเนินงาน คุณพลปิยะจึงได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain & Supply Chain) ที่ไทยเบฟได้ลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จนสามารถผ่านมาตรฐานเกณฑ์การประเมินเรื่องความยั่งยืน ยุทธศาสตร์เหล่านี้ผลักดันให้ไทยเบฟเติบโตอย่างเข้มแข็งและเป็นบริษัทเอเชียรายแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดผู้นำเรื่องความยั่งยืนสูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มเป็นเวลา 4 ปี ซ้อน (Dow Jones Sustainability Indices Leader หรือ DJSI Leader) ในระดับ Gold Class จากบริษัท S&P Global ใน The Sustainability Yearbook 2022
สุรพล บุพโกสุม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET): ในมุมของตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องของความยั่งยืน คือ สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากไม่นับรวมในเรื่องผลประกอบการ จะทำอย่างไรให้บริษัทที่จดทะเบียนกับ SET มีความยั่งยืนและเติบโตอย่างมีคุณภาพ จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ในระยะยาว เนื่องด้วยสถานการณ์ในโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนตลอดเวลา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นักลงทุนเองต้องประเมินความเสี่ยงด้าน ESG และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุน ด้วยเหตุนี้ SET จึงสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมถึงกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่ากิจการในระยะยาวที่เชื่อมโยงกับแนวคิด ESG ผ่านการจัดทำรายงานประจำปี โดยระบุตัวชี้วัด เช่น เรื่องนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม นโยบายการจัดการสังคม ฯลฯ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การจัดการพลังงาน การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ การดูแลของเสีย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสร้างความยั่งยืนที่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ยังสนับสนุนให้องค์กรวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด ESG ด้วยการสร้างสมดุลของทั้ง 3 องค์ประกอบสำคัญให้เกิดขึ้นให้การดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นแรงขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Identification & Assessment) และจัดการประเด็นสำคัญของธุรกิจ (Develop Strategy &Plan) ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างกรณีศึกษาของ SCG ที่นำมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง
ธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด: "เรื่องของความยั่งยืน" คือ เป้าหมายใหญ่และมิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากสิ่งที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นเวที COP21 ที่ปารีส ที่ว่าเราจะลด Greenhouse-Gas Emission 20-25% ภายใน ค.ศ. 2030 และ ในเวที COP26 ที่อังกฤษ ในการเข้าสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ เป็น Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 2065 ขณะที่ในต่างประเทศมีการเก็บ Carbon Tax หากแนวโน้มของตัวเลขในประเทศไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รวดเร็วพอที่จะสอดรับกับแผน ในอนาคต Carbon Tax อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในบ้านเรา ดังนั้น เราควรต้องเตรียมความพร้อม เริ่มจากการจัดเก็บข้อมูล การสำรวจความเสี่ยง การบริหารจัดการ เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นสำคัญหนึ่งที่คุณธีรพันธุ์เล่าถึงที่ Peter Drucker กล่าวว่า You can't manage what you can't measure. ถ้าเราอยากจัดการอะไร เราควรเริ่มจากการเก็บข้อมูลที่ดีก่อนเพื่อให้มีเกณฑ์วัดได้ และอาจพัฒนาเครื่องมือเพื่อสามารถช่วยจัดการพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น นอกเหนือจากนี้คุณธีรพันธุ์ยังได้กล่าวถึงตัวอย่างเคสจากประสบการณ์ในมุมของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำ การจัดการของเสีย การจัดการพลังงาน โรงงาน การพัฒนาและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การจัดการความเสี่ยง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การจัดการเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืน กระบวนการผลิตการจัดซื้อที่โปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารด้านความเสี่ยง ความปลอดภัยและสุขภาพ การจัดการตึกอัจฉริยะ การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้องค์ประกอบที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน กระบวนการ ตลอดจนเทคโนโลยีในการจัดการด้าน Infrastructure เพื่อเป้าหมายสู่ความยั่งยืน
รุจิรา รัถยาวิศิษฏ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนากระบวนการธุรกิจกลุ่มองค์กร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน): ไทยยูเนี่ยน (TU) เป็นบริษัทผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด กลยุทธ์การดำเนินงานและเป้าหมายขององค์กรจึงมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาของ UNSDG (ข้อ 2, 8, 13 และ 14) ที่ว่าด้วยเรื่องการขจัดความหิวโหยของมนุษยชาติ, การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน, การลดขยะเป็นศูนย์ และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เรามุ่งเน้นกระบวนการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกๆ ขั้นตอน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้เห็นภาพ คุณรุจิราได้เล่าถึงกระบวนการทำงานที่มีการนำเอาเทคโนโลยี เข้ามาตอบโจทย์ ได้แก่ 1. บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Packaging) โดยมีเป้าหมายคือ100%ของpackagingภายใต้แบรนด์ของTUจะต้องมีการreusable, recyclable หรือ compostable ภายในปี 2025 2.การเก็บข้อมูลของบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ (Material Master Packaging) ลักษณะจำเพาะ รวมถึงเปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมที่ผลิตจากพลาสติกเพื่อนำมาประมวลผลและโชว์เป็นDashboard 3. ระบบเก็บข้อมูลพื้นฐานของกุ้ง โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยตรวจสอบเรื่องฟาร์มกุ้งและข้อมูลย้อนกลับของระยะการเลี้ยงกุ้ง โดยร่วมกับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม ซึ่งจะมีการนำเอา AI และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยจำลองข้อมูลในการตรวจวัดคุณภาพและหาสารปนเปื้อน 4. การตรวจสอบย้อนหลัง (Traceability) มีการใช้ระบบที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งแต่กระบวนการผลิต ระยะเวลาการจัดเก็บ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ทั้งสายพันธุ์ปลา ล็อตผลิตสินค้า ฯลฯ เพื่อการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ความมุ่งมั่นเหล่านี้ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีที่แปดติดต่อกัน
พลาย สมุทวณิช ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน): ในมุมธุรกิจพลังงาน กัลฟ์ได้วางกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนโดยมุ่งเน้นเรื่อง Human Capital (ทุนทรัพยากรมนุษย์) ที่ตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรเป็นหลัก โดยบริษัทฯ ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า "BBS" (Behavior Base Safety Application) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมและวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยให้กับคนทำงานในโรงงาน ซึ่งจะมี Data ที่แสดงผลออกมาด้วยค่า LTIFR (Lost Time Injury Frequency Rate หรือ อัตราความถี่ของการบาดเจ็บจากการทำงาน) อีกเรื่องที่มุ่งเน้นคือ Operational Efficiency (ประสิทธิภาพการดำเนินงาน) ของการผลิตไฟฟ้า เราจะมีการนำเอาเทคโนโลยีมาสร้างเป็น Dashboard เพื่อช่วยให้ฝ่ายต่างๆ เช่น ผู้จัดการโรงไฟฟ้า คนทำงานและผู้บริหารเห็นภาพเดียวกัน สามารถปรับทั้งมุม Finance และ Operation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์การทำงานของโรงไฟฟ้า และให้สอดคล้องกับงบประมาณการลงทุน รวมไปถึงสามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
เดวิด โคลเรย์, ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน, เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: SAP เป็นหนึ่งใน 32 บริษัทแรก ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ United Nations Global Compact (หรือ UNGC) ซึ่งมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายในการดำเนินกิจการซึ่งมีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โจทย์ของเราในฐานะผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่นสำหรับองค์กร คือ เราทราบกันแล้วว่าอะไรคือ Driver ในเรื่อง Sustainability แต่ที่สำคัญคือจะทำให้เกิด Action ได้อย่างไร ในมุมของ SAP นั้นคือการเป็น Exemplar ที่สร้างแบบอย่างของแผนปฏิบัติและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับโมเดลธุรกิจ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่แตกต่าง เช่น การจัดการพลังงาน เป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2023 ด้วยกลยุทธ์ 3 Zero ได้แก่ 1. Zero Emission with Climate Action 2. Zero Waste with Circular Economy และ 3. Zero Inequality with Social Responsibility โซลูชั่นอย่างเช่น Holistic Steering & Reporting ได้ถูกพัฒนาเพื่อประมวลข้อมูลจากการดำเนินธุรกิจมาแสดงในรายงาน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อการ traceability ซึ่งทำให้สามารถควบคุมเลือกผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต เพื่อสามารถนำมาใช้กำหนดการตัดสินใจ ปรับกระบวนการให้สอดคล้องภายใต้เป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ตั้งไว้
Source: งาน "Thailand SAP User Group" #2 "Journey to Sustainability Development & Best Run Award Ceremony"
เหล่านี้เป็นแค่เพียงเนื้อหาบางส่วนที่เรารวบรวมไว้เท่านั้น หากคุณต้องการฟังรายละเอียดทั้งหมดและเรียนรู้ว่าผู้บรรยายของเราได้แบ่งปันอะไรอีกบ้าง สามารถดูการสัมมนาผ่านเว็บไซต์ได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?v=uGAqZbBfSb8
ดาวน์โหลดเนื้อหาการบรรยายได้ที่:
https://thsug.com/event-carlender/journey-to-sustainability-development-powered-by-thailand-sap-user-group/
สำหรับท่านที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิก และติดตามกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ จาก THSUG ในครั้งต่อไปได้ที่ WWW.THSUG.COM
ผู้เขียน: วลีพร สายะสิต, สุภาเพ็ญ อารีย์มิตร
ที่มา: มายด์ พีอาร์