นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขับเคลื่อนภารกิจด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและนโยบายของวธ.ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติและขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนบทบาทสู่ "กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ" ภายใต้แนวคิด "วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน" สร้างรายได้สู่ชุมชน ดังนั้น วธ.จึงดำเนินโครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันได้ ในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล นำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น สร้างความมั่นคง ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์หวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพิ่มศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้วธ.ดำเนินการรวบรวมภาพและข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากชุมชนคุณธรรมและชุมชนเครือข่ายวัฒนธรรมทั่วประเทศ 125 ชุมชน 125 ผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดทำต้นฉบับหนังสือภาพ CPOT ปี 2564 ซึ่งได้คุณแพร์ พิชชาภา พันธุมจินดา นางแบบและนักแสดงชื่อดัง ถ่ายภาพแฟชั่น ผ้าไทยและขึ้นปกหนังสือดังกล่าว ซึ่งคาดว่าหนังสือภาพดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ และจะเผยแพร่ ในรูปแบบอีบุ๊ก (E-book) ผ่านบนเว็บไซต์ของวธ. ถือเป็นการพลิกโฉมหนังสือภาพครั้งใหม่โดยการปรับเปลี่ยนให้เป็นนิตยสารแฟชั่นกึ่งจำหน่ายสินค้า มุ่งนำเสนอด้วยภาพถ่ายสินค้าของชุมชนที่ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูร่วมสมัยเพื่อดึงดูดให้ประชาชนเกิดความสนใจ เข้าถึงสินค้าและชุมชนเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น โดยจำแนกประเภทของสินค้าออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า 2.เครื่องประดับ 3.ของใช้ในชีวิตประจำวัน 4.เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน พร้อมเผยแพร่ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนได้มากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกนี้แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชน โดดเด่นในเรื่องการออกแบบให้มีความร่วมสมัย และเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โคมไฟจากใบตาล จ.เพชรบุรี ชุดผ้าไหมหมักโคลนทะเล จ.ระยอง เสื้อคลุมบาติกจากน้ำข้าว จ.นครศรีธรรมราช ผ้ายกจากใยกล้วยบัวหลวง จ.ปทุมธานี กระเป๋าใยตาล จ.สงขลา เป็นต้น
ทั้งนี้ วธ.มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ CPOT แบบ e-Commerce ทางเว็บไซต์ www.cpotshop.com และทางโซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊กเพจ facebook : CPOT เพื่อขยายโอกาสให้ชุมชนและผู้ประกอบการได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยช่วยพลิกฟื้นชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปด้วยกัน
ที่มา: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม