นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เปิดเผยว่าการที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร (PPFS) ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (ATCWG) โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม HLPDAB ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร
ทั้งนี้ การประชุมได้มีการรายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร นโยบายของแต่ละเขตเศรษฐกิจ รายงานความคืบหน้าการประชุมเชิงปฏิบัติการ HLPDAB ปี 2565 แลกเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มและความท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing Technology) มุมมองด้านกฎระเบียบของพันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนม หารือแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน HLPDAB ให้สมาชิกเศรษฐกิจ HLPDAB เสนอแนะและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ HLPDAB ปี 2565-2567 สถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้กรอบเอเปค สนับสนุนการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ พร้อมมุ่งมั่น สู่เป้าหมาย Sustainable Development Goal 2030 โดยจะมุ่งเน้นประเด็นหลักใน 5 เรื่อง คือ
1. ความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเพียงพอ2. การบูรณาการระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด3. การนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคง (Security) และ ความยั่งยืน (Sustainability) ในการปรับใช้ด้านการเกษตร4. การปรับตัวสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน5. การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับพัฒนาประเทศไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรขั้นสูง งานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและสมุนไพร อาทิ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญสูง การพัฒนายกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ทุเรียน มันสำปะหลัง เห็ด ให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ของเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีราคายุติธรรมและเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว การแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและลดการสูญเสีย อีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของ SDGs ที่สอดคล้องกับ BCG Economy Models รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573
"ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบาย DOA together ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุล (Balance) การปรับปรุง (Improve) การยกระดับ (Upgrade) ความทันสมัย (Modernization) และความร่วมมือ (Cooperation) ที่ขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Economy Models อาทิ การวิจัยระบบการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะทำงานร่วมกับองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับกรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมด้านการนำขยะทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การพัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพ ความทนทานโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในพืชชนิดต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านปรับปรุงพันธุ์ พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ เทคโนโลยีด้านเครื่องหมายโมเลกุล เทคโนโลยีการแก้ไขจีโนม การพัฒนาใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดต้นทุน เช่น ชุดทดสอบแบบง่ายต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ RNAi กำจัดศัตรูพืชและเอ็นไซม์จุลินทรีย์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่สำหรับใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เราเชื่อมั่นในความพร้อมของกรมวิชาการเกษตรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนจากประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 50 ปี"
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร