รศ.ดร.รัตติกร วรากูลศิริพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและทุนการศึกษา รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ได้รับความร่วมมือจากบริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) ในการติดตั้ง Smart Pole หรือเสาอัจฉริยะ บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารวิทยาลัยนานาชาติ (TNIC) เพื่อให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนานวัตกรรมเสาอัจฉริยะต้นแบบให้นำสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรือจดทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคต ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จึงเปิดโอกาสและสนับสนุนให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท รวมถึงคณาจารย์ที่สนใจ ได้เข้าร่วมโครงการ "การสร้างนวัตกรรมต่อยอดเสาอัจฉริยะ" เพื่อระดมไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ (Idea and Creation) ในการคิดค้น วิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ทั้งด้านระบบการบริหารจัดการ (Management system) การพัฒนาซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ หรือ Firmware ต่างๆ การพัฒนา Platform และ Mobile application ฯลฯ ที่สำคัญโครงการนี้ ยังจะเป็นการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่อีกด้วย
" ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมวลมนุษยชาติ การมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อความสะดวกสบายและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น Smart Pole หรือเสาอัจฉริยะ จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งหวังเพื่อพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่ และได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จนนำไปสู่การเป็น Smart City ในอนาคต
ด้านนายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร เปิดเผยว่า โครงการ "การสร้างนวัตกรรมต่อยอดเสาอัจฉริยะ" ของสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ถือเป็นการตอกย้ำการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน ซึ่ง PLANET ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart city) มีความยินดีที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้
สำหรับ เสาอัจฉริยะ(Smart pole)" ที่บริษัทฯได้ออกแบบและติดตั้ง ณ วิทยาลัยนานาชาติ (TNIC) อุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งไว้บนเสามีฟังก์ชันการใช้งานบน platform และผ่าน Application บนมือถือเพียงเครื่องเดียว สามารถตอบโจทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน อาทิ โคมไฟส่องสว่างแบบ LED 360 องศา โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 120 วัตต์ ดังนั้นในเวลากลางคืนจะให้แสงสว่างในบริเวณรอบข้าง โดยใช้ไฟที่เก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่ , อุปกรณ์ Sensor ที่ตรวจจับฝุ่นละออง วัดระดับ PM 2.5 , อุปกรณ์สื่อสาร ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่ออ่านค่าจาก Sensor ของกล้อง CCTV นำไปประมวลผล และแสดงบนจอ แบบ Dashboard เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถบริเวณภายในสถาบัน, SOS Emergency Video Call ชุดปุ่มกดขอความช่วยเหลือแบบ Video ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไปยังศูนย์ควบคุม เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
" Smart pole ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ(Smart City) เนื่องจาก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการออกแบบและทดลองติดตั้งไปแล้วในหลายพื้นที่ อาทิในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งได้รับกระแสตอบที่รับที่ดีมาก จากผู้คนในด้านความสะดวกสบายและปลอดภัย ขณะที่ด้านการดูแลบริการประชาชนของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้วางแผนการให้บริการได้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายการติดตั้งเสาอัจฉริยะไปในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ " นายประพัฒน์กล่าว
ที่มา: แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย