นายแพทย์พิเชฐ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระยะ 20 ปี ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนและเสริมสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความยั่งยืน การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชน หรือ "Community Medical Sciences for health : Com Med Sci for health" ซึ่งมีกิจกรรมหลัก 2 ด้าน (2 D) คือ การแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) และการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต (Development)
ทั้งนี้ การดำเนินงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปถ่ายทอดให้ถึงหน่วยงานและผู้ประกอบการผ่านระบบเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน และประเทศชาติ ทำให้มีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ เกิดภาคีเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีความเข้มแข็งและมีต้นแบบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้งานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน นอกจากนี้ยังได้ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และสมุนไพรมีการพัฒนายกระดับคุณภาพและความปลอดภัยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังสร้างรายได้และเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและประเทศด้วย
นายแพทย์พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนในเรื่องการแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) มีการพัฒนาศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพ จำนวน 487 แห่ง และพัฒนา อสม.ให้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชน การใช้ชุดทดสอบด้านยา อาหาร และเครื่องสำอาง ชุดทดสอบกัญชา ชุดตรวจ ATK การใช้งานฐานข้อมูลกรมวิทย์ With you การรายงานผลในแอพพลิเคชั่น H4U และ Smart อสม. การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ โดยมี อสม.ผ่านการประเมินเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน 4,809 คน สามารถนำความรู้ไปใช้เฝ้าระวังและจัดการปัญหาภัยสุขภาพในชุมชนได้ด้วยตนเอง มีความรอบรู้ ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยหรือการเกิดโรค
สำหรับการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน (Development) ได้พัฒนากระบวนการผลิตหรือคุณภาพผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 กรกฎาคม 2565 สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพรสู่ Smart product จำนวน 32 ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ให้ปลอดภัย จำนวน 75 ผลิตภัณฑ์
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแจ้งเตือนภัยสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนการทำงานในการป้องกันโรคและการคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ไทย ทั้งนี้ อสม. หรือผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ" นายแพทย์พิเชฐ กล่าว
ที่มา: โฟร์พีแอดส์ (96)