นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ยางในช่วงนี้ว่า กยท. ได้เฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ตลอด โดยเรื่องบริษัทลูกของ กยท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอการจัดตั้งบริษัทลูก กยท.ได้ดูแลการซื้อ-ขายยางผ่านหน่วยธุรกิจ (BU) เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางมาอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อ-ขายยางทั้งในตลาดล่วงหน้าและตลาดซื้อขายจริง
อย่างไรก็ตาม เรื่องของราคายางพาราเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากช่วงนี้ความต้องการใช้ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ราคายางในช่วงนี้จะมีการปรับตัวบ้าง แต่ก็เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เชื่อว่ายางยังคงมีเสถียรภาพอยู่ โดยคาดว่าช่วงปลายปีแนวโน้มราคายางจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากโรงงานต่างๆ กลับมาซื้อยางเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
นอกจากนี้ กยท. ยังดำเนินโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นยางก้อนถ้วยแห้ง ทำให้ยางที่เข้าร่วมโครงการจะได้ส่วนต่างในการขายยางเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงยกระดับราคายางก้อนถ้วยแห้ง เพิ่มมูลค่า สร้างความมั่นคงเรื่องรายได้ ทำให้ยางมีเสถียรภาพมากขึ้น ในส่วนของการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ที่ใช้ในการควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับยางให้เป็นระบบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยผู้ค้ายางจะทำรายงานบัญชีการซื้อยาง การจำหน่ายยางและปริมาณยางคงเหลือส่งให้กรมวิชาการเกษตรเป็นประจำทุกเดือน
"กยท. ยังเตรียมมาตรการอื่นๆ อาทิ การตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางรายสินค้าและรายประเทศคู่ค้ามาตรการระยะสั้นรายไตรมาส เพื่อบริหารจัดการยางพาราตามปฏิทินฤดูการผลิต โดยจะหารือกับเอกชน และภาคเกษตรกรร่วมกัน และการวิจัย พัฒนา นวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มรายได้ ชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ตามนโยบายรัฐบาล" ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: การยางแห่งประเทศไทย