นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินโครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสระแก้ว กาญจนบุรี มุกดาหาร ตาก ตราด สงขลา นครพนม หนองคาย เชียงราย และนราธิวาสกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานไทยที่ทำงานในเขตพื้นที่ดังกล่าวรวมจำนวน 7,200 คน ดำเนินการแล้ว 7,594 คน โดยในครั้งนี้ได้มอบหมายให้นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในฐานะโฆษกกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฝึกตามโครงการดังกล่าวที่จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม ดำเนินการฝึกให้แก่สมาชิกในกลุ่มชุมชนลองเบิ่งผ้ายาย ในสาขาการตัดเย็บชุดพื้นเมือง เพื่อสร้างทักษะด้านการออกแบบการตัดเย็บให้มีความทันสมัย พร้อมแนะนำการนำไปประยุกต์ใช้ประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน รวมถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ชุดผ้าไทยพื้นเมือง เพื่ออุดหนุนผ้าทอของจังหวัดต่างๆ ร่วมรณรงค์ใส่ผ้าไทยทุกวันอังคารหรือวันศุกร์ แล้วแต่หน่วยงานในพื้นที่จะกำหนด การรณรงค์ใส่ผ้าไทยจึงช่วยให้ผ้าทอพื้นเมืองหลายจังหวัดได้รับความนิยม สมาชิกกลุ่มผ้าทอต่างมีรายได้ทั้งจากการทอผ้าที่เพิ่มขึ้น ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผ้าทอมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการถ่ายทอดสู่สายตาคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสวมใส่ได้อย่างมั่นใจไม่ล่าสมัยเป็นต้น
นางสาวอาภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการตัดเย็บชุดพื้นเมืองนั้น ผ้าทอพื้นเมืองมีเอกลักษณ์เฉพาะ จุดเด่นที่ลวดลาย มีความยากง่ายที่การทอยกดอก ซึ่งลักษณะผ้าพื้นเมืองแต่ละจังหวัดจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน บ่งบอกถึงขนมธรรมเนียมและวัฒนธรรมท้องถิ่น การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มีหลายรูปแบบ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน "ลองเบิ่งผ้ายาย" ให้มีความรู้เพิ่มเติมในการตัดเย็บ การออกแบบที่ทันสมัย คนรุ่นใหม่ใส่ได้ รูปทรงเก๋ไก๋ ไม่เหมือนใคร แต่ยังคงรักษาลักษณะของผ้าพื้นเมืองนครพนมไว้
นางณัฑรินดา ธนมุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มมีอาชีพทำนา ทำให้มีรายได้แค่ปีละครั้ง จึงรวมตัวกันทอผ้าขายเป็นอาชีพเสริม แต่ด้วยผลิตภัณฑ์มีแค่การทอผ้าและขาดความสวยงาม จึงเข้าร่วมฝึกอบรมกับทางสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม ในสาขาตัดเย็บผ้าพื้นเมือง เพื่อเพิ่มทักษะในด้านการตัดเย็บ ปักผ้า การทำลวดลายต่างๆเพิ่มขึ้น และนำมาต่อยอดกับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้มีรายได้ในกลุ่มเฉลี่ย 50,000 บาท ต่อเดือน มีเงินออมและเงินปันผลแก่สมาชิกอีกด้วย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจอยากฝึกทักษะอาชีพ มาฝึกกับสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ฝึกจริง เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง เห็นผล สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สวยงาม เพิ่มรายได้ เพิ่มทักษะฝีมือเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้จริง
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน