นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตนเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2565 ประกอบด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานว่า ภายหลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รายงานผลความสำเร็จของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการติดตามทับหลังกลับคืนจาก Asean Art Museum เมื่อ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ ไปจัดแสดง ณ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ไปจัดแสดงที่ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว อันเป็นพื้นที่ตั้งแหล่งกำเนิดทับหลังทั้งสองรายการแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ประชาชนสามารถเข้าชมได้แล้วในศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสองแห่ง
นอกจากนี้ยังได้รับรายงานความคืบหน้าจากนาย เดวิด เคลเลอร์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations: HSI) ในการดำเนินคดีและเจรจาให้ส่งคืนโบราณวัตถุไทย 3 รายการ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี 2 องค์ กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์ (The Denver Art Museum) โดยขยายเวลาแก่พิพิธภัณฑ์ในการพิจารณาส่งคืนโบราณวัตถุดังกล่าวแก่ประเทศไทยโดยเร็ว
สำหรับโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศที่คณะกรรมการฯ จะเริ่มกระบวนการประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามในลำดับถัดไป จำนวน 2 รายการ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี อยู่ในความครอบครองของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และใบเสมาหินสลักภาพพุทธประวัติสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปรากฏข้อมูลใน Collection online ของ The British Museum
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้รายงานข้อมูลโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ ประติมากรรมพระศิวะสำริด จัดแสดง ณ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ก รวมถึงข้อมูลจากจากพิพิธภัณฑ์และผู้ครอบครองโบราณวัตถุจากประเทศไทย ที่ได้ขอความร่วมมือกรมศิลปากรตรวจสอบข้อมูลการนำโบราณวัตถุออกจากประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ได้แก่ The National Gallery of Australia และทายาทนักสะสมที่เมืองโฮโนลูลู สหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ ดำเนินการตรวจสอบและเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาในครั้งต่อไป
ที่มา: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม