รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมงาน มจธ.ของคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษา ซึ่งอาจนำไปสู่โครงการความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อจะได้ช่วยกันฟูมฟักเยาวชนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศได้ โดยเฉพาะบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
ในช่วงเช้า ศ. คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ นำคณะฯ เข้าร่วมรับฟังแนวทางการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของ มจธ. ที่มีอยู่หลากหลายโปรแกรมทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย อาทิ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) ห้องเรียนวิศว์-วิทย์ และ โคเซ็น มจธ. (KOSEN KMUTT) ณ มจธ. บางขุนเทียน และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ เช่น การเตรียมความพร้อมบุคลากรครูสำหรับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ มจธ. นำมาใช้ แนวทางการประเมินหรือวัดผลเพื่อรักษาคุณภาพของการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของของนักเรียนโครงการเพิ่มประสบการณ์ของเด็กและเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการ 2B-KMUTT
ต่อมาคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ฯ ได้เยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีน (Biopharmaceutical characterization laboratory: BPCL) และรับฟังบรรยายเกี่ยวกับความก้าวหน้าโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ (Automated Tissue Kulture: ATK) จากนั้นเดินทางมา มจธ.บางมด เพื่อเยี่ยมชมงานวิจัยด้านประสาทวิทยาและจิตวิทยา ของสถาบันการเรียนรู้ และรับฟังบรรยายเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ณ สำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education Office: GEO)
ในช่วงบ่าย ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ นำคณะฯ เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์และสุขภาพ ของศูนย์วิจัย Hospital Automation Research Center (HAC) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (Institute of Field Robotics (FIBO) อาทิ "CARVER" หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ขนส่งอาหาร ยา และเวชภัณฑ์, "NEF" ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียงของผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ, "Inspectra-CXR" ระบบ AI ช่วยตรวจจับความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกฯลฯ โดยมี ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ FIBO ให้การต้อนรับ และชมผลงานวิจัยของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาทิ เครื่องฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยรังสี UVC อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน ห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) และอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติทางเลือกในอนาคตสำหรับผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายกระดูก โดยมีอาจารย์และคณะนักวิจัยให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว ในโอกาสนี้ มจธ. ยังได้มอบเครื่องฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยรังสี UVC จำนวน 10 เครื่องซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ และทีมวิจัยที่ถ่ายทอดไปยังเอกชน ให้แก่ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
การดูงานครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงความสามารถและความสนใจของสองสถาบันเข้าด้วยกัน และในอนาคตคาดว่าจะมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของงานวิจัยนั้น หากนำจุดแข็งของทั้งสองแห่งมาเสริมกันได้ ก็น่าที่จะทำให้เกิดงานวิจัยเชิงที่มีประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพที่มีโอกาสถึงมือผู้ใช้ได้เร็วยิ่งขึ้น
ที่มา: โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี