ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเดช มีอินเกิด ผู้รับผิดชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้ง วิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อบำบัดสารโลหะหนักในดินบริเวณพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนมาอย่างยาวนาน จนประสบผลสำเร็จ
หนึ่งในผลงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจในฐานะ"ปัญญาของแผ่นดิน" ได้แก่ ผลงานการวิจัยเพื่อพัฒนาสารปรับปรุงดิน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2021 ในวารสารวิชาการนานาชาติ "Environmental Geochemistry and Health"
โดยเป็นการนำเอา "ลีโอนาร์ไดต์" (Leonardite) ซึ่งได้จากการถลุงถ่านหินและประกอบด้วยสารอินทรีย์และธาตุอาหารที่จำเป็นในปริมาณสูง มาผสมกับมูลวัวในอัตราส่วน 1
: 1 เพื่อใช้ทดลองปลูก "ข้าวหอมมะลิ 105 (KDML105)" ในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมและสังกะสี ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระยะเวลา 6 เดือน พบว่าได้ผลค่อนข้างดี
โดยพบว่าเมล็ดข้าวมีการสะสมปริมาณแคดเมียมต่ำกว่า0.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคตามมาตราฐานอาหารสากล (CODEX Alimentarius, 2005) ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกสามารถรับประทานข้าวได้อย่างมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยรวมทั้งส่งผลดีต่อเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก
อีกผลงานที่ภาคภูมิใจ ได้แก่ การพัฒนาสารปรับปรุงดินจากการนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการหมักเศษไม้ใบหญ้า เปลือกข้าว และมูลสัตว์ของชุมชน มาทดลองใช้ปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยทดลองปลูกทั้งในโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ (Greenhouse) และพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียม ลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตาก
ซึ่งพบว่ายูคาลิปตัสมีศักยภาพเป็นพืชบำบัดแคดเมียม โดยมีการสะสมโลหะหนักดังกล่าวสูงที่บริเวณราก จึงถูกเรียกว่าพืชเอกซ์คลูเดอร์ (excluder) ทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจสามารถแปรรูปไปทำเฟอร์นิเจอร์ กระดาษ น้ำมันหอมระเหยฯลฯ ได้อีกมากมาย จึงเหมาะต่อการนำมาใช้เพื่อส่งเสริมปลูกทดแทนพืชกินได้ (edible plant) งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Science Asia เมื่อปี 2016
ซึ่งนอกจากต้นยูคาลิปตัส จะสามารถปลูกเพื่อใช้บำบัดสารโลหะหนักในพื้นที่ปนเปื้อนได้อย่างเห็นผลแล้ว ยังได้มีการทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจหลากชนิด เช่น สัก แดง สบู่ดำกระถินเทพา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจเหมาะต่อการใช้เพื่อจัดการพื้นที่เกษตรปนเปื้อนแคดเมียมและสังกะสี แต่อาจใช้ระยะเวลานาน 3 - 5 ปี ในการเห็นผล ผลงานวิจัยดังกล่าวจะได้ทยอยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติต่อไป
สำหรับในระยะสั้นของการปลูก นักวิจัยพบว่าการปลูกหญ้าแฝกสายพันธุ์ศรีลังกา โดยใช้มูลสุกรในอัตราส่วนร้อยละ 10 จากปริมาณดินทั้งหมด เป็นสารปรับปรุงดิน ซึ่งศักยภาพของหญ้าแฝกมีส่วนช่วยลดการทำลายหน้าดิน ซึ่งประกอบด้วยรากฝอยที่แตกจากส่วนของลำต้นใต้ดินและแผ่กระจาย และยังมีความยาวถึง 3 เมตร จึงมีส่วนอย่างมากในการช่วยตรึงโลหะหนัก ได้แก่ แคดเมียม และสังกะสี ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ "Environmental Science and Pollution Research" เมื่อปี 2016
ปัจจุบันเกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาและผลกระทบจากการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นยาปราบศัตรูพืช ยากำจัดวัชพืช โลหะหนัก หรือสารกัมมันตรังสีที่หลุดรอดมาจากกิจกรรมทางการเกษตรต่างๆ
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นที่พึ่งให้เกษตรกรในทุกภูมิภาค โดยเตรียมบ่มเพาะมหาบัณฑิตเพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีออกไปช่วยเหลือชุมชนและประเทศชาติกำหนดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกต้นปี 2566
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล