อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกผลไม้สดไทยไปจีน ในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีแปลงเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GAP กับกรมวิชาการเกษตร และได้รับการยอมรับ และขึ้นทะเบียนกับ GACC สำหรับการส่งออกผลไม้ไปจีน 13 ชนิด จำนวน 175,069 แปลง และมีโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GMP กับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 1,783 โรงคัดบรรจุ ปริมาณการส่งออกผลไม้ไปจีน จำนวน 71,213 ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 1.82 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 100,451.72 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านด่านตรวจพืชเชียงของ ผ่านประเทศที่สาม มีจำนวน 20,504 ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 380,277.11 ตัน มูลค่าประมาณ 29,054.66 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร มีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto certificate) พัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกตามนโยบายรัฐบาล 4.0 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผ่านระบบNational Single window : NSW ไปยังประเทศจีน ในการสำแดงที่ด่านนำเข้าว่าสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบรับรองการปลอดโรค แมลงศัตรูพืช ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยพืช ฉบับที่ 12 (International Standard for Phytosanitary Measures : ISPM )และให้สอดคล้องตามเงื่อนไขตามพิธีสารระหว่างไทยและจีน รวมถึงมาตรการ GMP Plus ไม่ให้มีเชื้อโควิด 19 ปนเปื้อนไปกับตู้คอนเทนเนอร์สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผิวผลไม้ โดยเฉพาะ ทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจีน
พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เน้นย้ำความสำเร็จของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการส่งออกผลไม้ไปจีนอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง ได้สั่งการให้ด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร เข้มงวดและเฝ้าระวังการลักลอบนำผลไม้จากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์เป็นผลไม้ไทยแล้วส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ได้รับรายงานว่าแปลง GAP ที่นำมายื่นเพื่อขอรับใบสุขอนามัยพืชนั้นไม่มีผลผลิตสำหรับการส่งออกจริง ซึ่งด่านตรวจพืชจะต้องประสานไปยังหน่วยงาน สวพ. ในพื้นที่เพื่อขอให้ตรวจสอบ และหากพบการสวมสิทธิ์จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงผู้ส่งออกหรือตัวแทนผู้ส่งออกด้วย
อนึ่ง เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงระหว่าง จีน ลาว ไทย เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2551 มีจุดเริ่มต้นจากเชียงของประเทศไทย ไปยังบ่อแก้ว หลวงน้ำทาบ่อเตน ของประเทศลาว และเข้าสู่โม่ฮ่านของจีน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเจรจาทางด้านเทคนิคมาตรการสุขอนามัยพืช จนกระทั่งเมื่อ 2554 มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย" และได้มีการแก้ไข ปี 2564 ครอบคลุมประเด็นมาตรการสุขอนามัยพืช จุดในการนำเข้า ส่งออก ของไทยและจีน รวมถึงการแจ้งเตือน ให้อำนวยความสะดวกในการส่งออกมากขึ้น และกรมวิชาการเกษตรได้ออก ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสาหรับผลไม้ส่งออก จากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับส่งออกผลไม้ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ครอบคลุมทุกประเด็น ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร