ทั้งนี้ NT จะนำศักยภาพด้าน Digital & Telecommunication Infrastructure ประกอบด้วยการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) ระบบเสียงตามสาย บริการ Wi-Fi และระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพประชาชน(Smart Help Care Service) เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยี ทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งรองรับการท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำพาเมืองพิจิตรก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Phichit Smart City) ต่อไป
นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Phichit Smart City) ในวันนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าของจังหวัดพิจิตร ที่จะได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาเมือง อีกทั้งเทศบาลเมืองพิจิตร มีเป้าหมายในการ ผลักดันให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองพิจิตรก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ ตามแนวทางของ Digital 4.0 เพื่อก่อให้เกิดเป็นแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน ตอบสนองแนวคิด Smart City Solutions ได้อย่างสมบูรณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Phichit Smart City) จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ได้มาเที่ยวจังหวัดพิจิตร ในนามของจังหวัดพิจิตร ขอขอบคุณ นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Phitchit Smart City จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประชาชนชาวเทศบาลเมืองพิจิตร ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้และพัฒนาได้อย่างสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายสุรพล เตียวตระกูล นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนา สู่เมืองอัจฉริยะ "Phichit Smart City" ระหว่าง โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เทศบาลเมืองพิจิตร ตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร จะร่วมกันดำเนินการบูรณาการระบบสารสนเทศ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาท้องถิ่น เทศบาลเมืองพิจิตร ที่มีแนวทางการดำเนินการร่วมกันของ ทั้ง 3 หน่วยงาน ในการออกแบบโครงสร้างทั้ง Hardware และ Software เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับเทศบาลเมืองพิจิตร รวมทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยว ภายในจังหวัดพิจิตร โดยมีแผนงานประกอบด้วย การพัฒนาติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในแหล่งชุมชน ตลาดสด สวนสาธารณะ สำหรับดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของภาครัฐ ประชาชน และภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาระบบเสียงตามสาย เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและรับรู้ข่าวสารต่างๆ ของภาครัฐ
รวมถึงติดตั้งให้บริการ Wi-Fi พื้นที่สาธารณะ เพื่อบริการประชาชน นักท่องเที่ยว ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายและทั่วถึง อีกทั้งได้บริหารและพัฒนาโครงการให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เทศบาลเมืองพิจิตร จึงได้ตระหนักในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้มีโรคประจำตัว และประชาชน จะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพ อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกกลุ่ม เน้นความเท่าเทียมในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรสาธารณสุขออกไปติดตามดูแลผู้ป่วยดังกล่าวที่บ้านแบบบูรณาการและต่อเนื่อง และการสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการเครือข่ายดูแลสุขภาพประชาชน ผ่านระบบบริการช่วยเหลือทางโทรศัพท์ และแอปพลิเคชัน (Smart Help Care Service) เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงรองรับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของเทศบาลเมืองพิจิตร ที่จะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาขีดความสามารถในการเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีผู้ขอความช่วยเหลือ จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญ ซึ่งเป็นการทำงานผสานร่วมกัน โดยมีระบบป้องกันข้อมูลตามนโยบายความเป็นส่วนตัว และปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานได้อย่างสูงสุดของเทคโนโลยีนั้น ๆ และทำแผนตั้งศูนย์กลางการบริหารเมืองอัจฉริยะ (Smart City Data Center) ในนามเทศบาลเมืองพิจิตร กระผมขอขอบคุณ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานและสักขีพยาน พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ และขอขอบคุณ โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT และตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Phichit Smart City) และการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกของการพัฒนาร่วมกัน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไปในอนาคต
นายกมลชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มขายและปฏิบัติการลูกค้าภาคเหนือตอนล่างและตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง NT กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะเมือง ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐได้มุ่งหวังให้เป็นกลไกในการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สุดท้ายแล้วก็เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะกระจายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Phichit Smart City) ในครั้งนี้ คือรูปแบบของเมืองแห่งอนาคต ที่ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน ชุมชน กับระบบงานบริการของทางภาครัฐ และภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันศึกษาและพัฒนาการให้บริการ Digital Solution Technology เพื่อยกระดับการดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบ Smart City Platform นำสู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City ในอนาคต โดย โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ดำเนินการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อก้าวสู่ Smart City อาทิ Social Security รวมถึงการใช้ทรัพยากรด้าน Digital & Telecommunication infrastructure ประกอบด้วยการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ติดตั้งระบบเสียงตามสาย ติดตั้งให้บริการอินเทอร์เน็ต Wi-Fi และติดตั้งระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพประชาชน (Smart Help Care Service) เป็นต้น
พลตำรวจตรีกำธร จันที ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Phichit Smart City) ระหว่าง โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT และตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร ซึ่งถือเป็นโครงการที่ร่วมกันบูรณาการระบบสารสนเทศ ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชน ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง ได้มีการปฏิรูประบบการทำงานให้รองรับและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 โดยคำนึงถึง พันธกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านการรักษากฎหมาย การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวย ความยุติธรรมแก่ประชาชน จึงจัดทำโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้านการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยบูรณาการกำลังพลและการประสานงานกับทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จึงขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์เชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินการโครงการดังกล่าว นั้น
ซึ่งเทศบาลเมืองพิจิตร ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Phitchit Smart City) และ เกิดประโยชน์กับประชาชนชาวเทศบาลเมืองพิจิตร ให้มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยที่ดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ที่มา: โทรคมนาคมแห่งชาติ