กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--เอดีทูวายด์ คอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส
ขณะที่ผู้ใหญ่ต้องทำงานทำการ รู้มั้ยว่าเด็กๆ เขาก็มีงานของเขาเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กบอกว่างานของเด็กๆ ก็คือ “การเล่น” นั่นเอง เมื่อพูดถึง การเล่นผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เหมือนชื่อ แต่เชื่อมั้ยว่า “การเล่น” นั้นมีประโยชน์กับเด็กๆ อย่างที่ผู้ใหญ่คิดไม่ถึงทีเดียว
น.พ. ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ยืนยันว่า การเล่นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็ก ตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ การเล่นเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ แม้เด็กจะไม่ค่อยเข้าใจ หรือการเล่นนั้นจะง่าย ๆ เช่น เอาของเข้าปาก เล่นน้ำลาย เล่นตั้งไข่ จับปูดำ ฯลฯ ซึ่งเป็นการเล่นที่พ่อแม่ทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อน และเด็กๆ ก็สนุกที่ได้เล่นกับพ่อแม่
เมื่อเด็กโตขึ้นอีกหน่อย การเล่นจะพัฒนาเป็นการเรียนรู้ที่เด่นชัดขึ้น เช่น เด็กเล่นโยนของ เล่นขีดเขี่ย เล่นเทน้ำ กดชักโครกเล่น เล่นเป่าฟองสบู่ การเล่นเหล่านี้จะมีส่วนของความรู้ให้เด็กได้เรียนเสมอ เช่น การโยนของ ก็ได้เรียนรู้ผลของการกระดอน หรือถ้าโยนของที่แม่ห้ามโยนก็จะได้เรียนรู้การอาละวาดของแม่แทน
นอกจากการเล่นเพื่อเรียนรู้ความเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว พอโตขึ้นการเล่นก็จะพัฒนาเป็นการเล่นเลียนแบบ หรือเล่นบทบาทสมมติ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางสังคม และการฝึกฝนทักษะการแสดงออก เช่น เล่นครูนักเรียน โปลิสจับขโมย ครั้นพอเด็กโตมากขึ้น การเล่นก็จะซับซ้อนขึ้น มีกฎกติกา มีการแพ้ชนะ มีการเล่นที่เป็นเรื่องเป็นราวมีจินตนาการ ซึ่งก็จะได้เรียนรู้มากขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าการเล่นช่วยพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ น.พ. ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ยังบอกว่า “การเล่นนั้นควรเป็นเรื่องสนุก ถ้าเด็กทำอะไรแล้วรู้สึกสนุกก็จะถือว่าเป็นการเล่นทั้งหมด เช่น เด็กที่พ่อแม่ยืนกำกับให้เก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ จะรู้สึกว่าการเก็บของเล่นเป็นงาน ส่วนเด็กที่พ่อแม่ลงมาช่วยเก็บแล้วทำทีเป็นเล่น อาจจะโยนของเล่นเข้าตะกร้า เด็กก็จะรู้สึกว่าการเก็บของเล่นเป็นการเล่นอีกอย่างหนึ่ง จะทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมได้ง่ายกว่า
เด็กๆ กับของเล่นจึงเป็นของคู่กัน เด็กคนไหนที่ไม่ได้เล่นหรือขาดการเล่น สังเกตได้ว่าจะเป็นเด็กเหงาๆ ไม่มีความมั่นใจ เข้าสังคมไม่เป็น ดูไม่สดใสร่าเริงอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เด็กในสถานสงเคราะห์ ที่ไม่มีทั้งคนเล่นและของเล่น เด็กเหล่านี้จะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป ทั้งทางร่างกายและจิตใจ”
คุณหมอดุสิตได้ให้คำแนะนำว่า “เด็กควรได้เล่นมากๆ และเล่นให้เหมาะกับวัยและกาลเทศะ ถ้าเด็กวัยเรียนก็ต้องถือการเรียนเป็นกิจกรรมหลัก การเล่นเป็นกิจกรรมรอง ส่วนเด็กวัยเล็กหรือเด็กอนุบาล ต้องถือการเล่นเป็นกิจกรรมหลัก แต่น่าเป็นห่วงเพราะบ้านเราตอนนี้เด็กวัยอนุบาลก็เรียน จนไม่ได้เล่น
พอโตเข้าวัยรุ่น การเล่นก็คงแปรรูปเป็นการกีฬา หรืองานอดิเรก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดี แม้จะมีรูปแบบไม่เหมือนการเล่น แต่อารมณ์ความรู้สึกของคนทำก็จะเหมือนการเล่นนั่นเอง
เมื่อมีการเล่นก็ต้องมีของเล่น สำหรับของเล่นนั้น คุณหมอแนะนำว่าควรคำนึงถึงความปลอดภัย เหมาะสมกับวัยของเด็กไม่ซับซ้อนจนเล่นไม่เป็น เล่นแล้วสนุก และก่อให้เกิดการเรียนรู้
จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลเด็กมากมากมาย คุณหมอเพิ่มเติมว่า พ่อแม่สมัยนี้เล่นกับลูกไม่ค่อยเป็น ส่วนใหญ่เป็นเพราะคนรุ่นพ่อแม่จะโตมาจากครอบครัวที่มีลูกน้อย จึงขาดความคุ้นเคยกับเด็ก พอมีลูกเองจึงเล่นสนุก ๆ ไม่ค่อยเป็น ไม่มีศิลปะในการเล่นกับลูก ที่สำคัญจะมุ่งเน้นให้ลูกเรียนมากกว่า ไม่เห็นความสำคัญของการเล่นมากนัก เพราะคิดว่าทำให้เสียเวลา ทำให้เด็กได้เล่นน้อยกว่าที่ควร โดยเฉพาะเด็กในเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะจริงๆ แล้วเด็กจะได้ประโยชน์จากการเล่นมาก” คุณหมอสรุปส่งท้าย
เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการเล่น ดิสนีย์ขอเชิญน้องๆ พร้อมครอบครัวร่วมกิจกรรมแสนสนุกกับเทศกาลของเล่นดิสนีย์แห่งปี ในงาน Disney Cars Toy Town 2006 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมบันเทิง ที่ให้สาระ พร้อมเสริมสร้างความรู้และ พัฒนาการในด้านต่างๆ ระหว่างวันที่ 16-26 ตุลาคม 2549 เวลา 10.00 — 21.00 น. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ผกากานท์ (ลูกหยี) ภู่ระโหง มือถือ 0 1489 8419 โทร/โทรสาร 0 2910-7998
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net