คุณควังชุน ลิม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Busan Jungkwan Energy จำกัด ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการด้านระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารวมถึงระบบทำความร้อนแก่ครัวเรือนมากกว่า 30,000 หลังในพื้นที่จุงกวาง (Jungkwan) เมืองปูซาน (Busan) ที่ประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า "บริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะนำทักษะความเชี่ยวชาญอันเห็นได้จากความสำเร็จในการประกอบธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานเชิงพาณิชย์รวมถึงมุมมองการพัฒนาธุรกิจระบบควบคุมและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศเกาหลีใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นฐานในการเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือนซึ่งทำร่วมกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เพื่อสร้างการเติบโตในระดับพาณิชย์ ซึ่งบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นโอกาสเสริมความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญของ 2 บริษัท"
ด้านนางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า GUNKUL รวมถึงหน่วยนวัตกรรมธุรกิจพลังงานของบริษัท GUNKUL SPECTRUM มีเป้าหมายสำคัญที่จะส่งเสริมและเร่งสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในยุคที่โซลาร์รูฟและรถยนต์ไฟฟ้าเสมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานเดิมที่มีอยู่ต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ มองว่าระบบการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) โดยเฉพาะเมื่อบริหารผ่านแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือนหรือ Virtual Power Plant จะเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในอนาคตของประเทศและช่วยสร้างความสมดุลให้กับโครงข่ายไฟฟ้าที่จะมีพลังงานสะอาดเป็นพลังงานหลัก ผู้ผลิตหรือผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะสามารถมีส่วนร่วมในการจัดสรรพลังงานทุกหน่วยได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า
"การผนึกพันธมิตรในครั้งนี้จะเป็นการรวมความแข็งแกร่งด้านพลังงานที่โดดเด่นของ 3 บริษัทเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาโอกาสในการทำธุรกิจพลังงานร่วมกันในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจระบบแบตเตอรี่และแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือน รวมถึงเป็นการเน้นย้ำถึงพันธกิจของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ" คุณนฤชลกล่าว
คุณ Tony Lee ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท EIPGRID จำกัด กล่าวว่า "EIP ตัดสินใจร่วมมือกับทาง GUNKUL SPECTRUM ในครั้งนี้ โดยเล็งเห็นถึงความทุ่มเทที่จะพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงานร่วมกับพันธมิตร นอกเหนือจากนี้บริษัทฯ มีความยินดีและชื่นชมในแนวทางการรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจพลังงานที่สร้างสรรค์ซึ่งจะช่วยผลักดันเป้าหมายที่ได้วางไว้ให้ขึ้นไปในอีกระดับ" ที่ผ่านมา EIPGRID ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าทั่วโลกเพื่อนำไปใช้เพิ่มศักยภาพและจัดระเบียบการบริหารแหล่งพลังงานที่หลากหลาย อาทิเช่น ระบบโซลาร์รูฟท็อป ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นผ่านระบบปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็น Demand-Response (DR), โรงไฟฟ้าเสมือน หรือ Virtual Power Plant และระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงาน Peer-to-Peer (P2P)
สำหรับการลงนามความร่วมมือ 3 บริษัทในครั้งนี้จะมุ่งเน้นการทำงานใน 3 ขอบเขตด้วยกันคือ
(1) Proof-of-Concept ทดสอบความเป็นไปได้ในเชิงเทคโนโลยีวิศวกรรม ที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่, การตอบสนองด้านโหลด Demand Response และแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือน
(2) Market assessment and feasibility study ศึกษาและพัฒนาธุรกิจพลังงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
(3) Collaborative launchpad ความร่วมมือในการทำงานวิจัย (R&D) และพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้
โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตัวแทนผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 3 บริษัทได้มีการปรึกษาหารือมุมมองความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ เพื่อวางเป้าหมายและแผนการดำเนินงานของปี 2565-2566ร่วมกัน, พัฒนาโมเดลธุรกิจ รวมถึงแผนการดำเนินงานในเชิงเทคนิคที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้ BJE เป็นบริษัทลูกในเครือของ SK E&S ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านบริการพลังงานโดยเฉพาะธุรกิจการบริหารจัดการไฟฟ้า โดยเป็นบริษัทภายใต้กลุ่ม SK (SK Group) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับต้นๆ ของโลก ส่วนบริษัท EIPGRID จำกัด เป็นบริษัทผู้พัฒนา ซอฟต์แวร์ชั้นนำของเกาหลีใต้ เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาโซลูชั่นและบริการด้านพลังงานดิจิทัล ไปจนถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ
ที่มา: ไออาร์ เน็ตเวิร์ค