การเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 1-2 และ 5-6 กันยายนที่ผ่านมา ผ่านสถาบันการเงิน 10 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (รวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขาย) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ชุดเดิม (MINT18PA) จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการไถ่ถอนก่อนกำหนด ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยนักลงทุนให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดจองซื้อเต็มมูลค่าที่เสนอขายจำนวน 1 หมื่นล้านบาท และบริษัทได้ใช้หุ้นกู้ส่วนที่สำรองเพื่อเสนอขาย (Greenshoe) เพิ่มเติมอีกจำนวน 3 พันล้านบาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งจากผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ชุดเดิมที่ต้องการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ MINT และผู้ลงทุนรายใหม่
สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ชุดใหม่ดังกล่าว ซึ่ง MINT มีสิทธิไถ่ถอนในปีที่ 5 เป็นต้นไปนั้น ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 6.10 ต่อปี โดยจะทำการจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+" ในขณะที่ MINT ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้ม "คงที่" จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ MINT กล่าวว่า "เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ชุดใหม่นี้ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพทางธุรกิจของ MINT และกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทางการเงินในช่วงของการฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นทั่วโลกและกลยุทธ์ในการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัท ส่งผลให้ MINT มีผลการดำเนินการที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยสามารถพลิกฟื้นกลับมาสร้างผลกำไรได้ในไตรมาส 2 ปี 2565 และมีเป้าหมายทำกำไรอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปีต่อๆ ไป"
นายชัยพัฒน์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการยกเลิกข้อจำกัดการในด้านการเดินทางระหว่างประเทศในทุกประเทศที่ MINT มีการดำเนินงานอยู่ โดยความต้องการในการเดินทางเพื่อการพักผ่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการเดินทางเพื่อธุรกิจ ส่งผลให้กลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และมัลดีฟส์ของ MINT จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19ต่อไป ในขณะที่กลุ่มโรงแรมในประเทศไทยมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 50 จากร้อยละ 31 ในไตรมาส 1 ปี 2565 และราคาค่าห้องพักเฉลี่ยในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนไมเนอร์ ฟู้ดมีแผนที่จะลงทุนในการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัยและผลักดันการเติบโตของยอดขายผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ ท่ามกลางการบริโภคภายในประเทศไทยและออสเตรเลียที่แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่สาขาร้านอาหารทั้งหมดในประเทศจีนได้กลับมาเปิดให้บริการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านและกลับมาสร้างผลกำไรในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาช่องทางการจำหน่ายจากร้านค้าและออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการเติบโตในธุรกิจอีคอมเมิสอย่างรวดเร็ว และการเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยตามศูนย์การค้าอีกครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการขยายธุรกิจ MINT ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน (CAPEX) อยู่ที่จำนวน 6 พันล้าน และ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ สำหรับทั้งสามธุรกิจ"
ที่มา: เอ็มที มัลติมีเดีย