- ติดตามการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า การแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก การแจ้งระบายน้ำจากเขื่อน รวมทั้งข้อมูลและประกาศแจ้งเตือนอื่น ๆ จากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
- ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ธุรกิจหรือที่พักอาศัยของท่านตั้งอยู่
- ตรวจเช็คสภาพแนวกั้นน้ำโดยรอบและระดับความสูงต่ำของพื้นที่ตั้งเพื่อดูความเป็นไปได้ของการท่วมขัง
- สำรวจช่องทางการระบายน้ำและเส้นทางการไหลของน้ำหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งเคลียร์ช่องทางการระบายน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำแต่เนิ่น ๆ
- สำรวจความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงผนังอาคาร พื้น และบริเวณโดยรอบ หากพบบริเวณที่ชำรุดควรรีบดำเนินการซ่อมแซมในทันที
- สำรวจการทำงานของระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ และการปิดระบบไฟฟ้าหากเกิดน้ำท่วม
- เตรียมการยกระดับความสูงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ติดตั้ง รวมถึงขนย้ายวัตถุดิบและสต๊อกสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ ขึ้นที่สูง
- เตรียมการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมีค่าและยานพาหนะไปยังสถานที่ปลอดภัย หากจำเป็นต้องอพยพออกจากสถานประกอบการหรือที่พักอาศัย
- สำหรับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ควรสำรวจแนวป้องกันที่สร้างไว้ว่ายังมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันน้ำจากภายนอกหรือไม่ และเตรียมเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอเพื่อระบายน้ำออกจากนิคมในกรณีที่ฝนตกหนักและเกิดการท่วมขังภายใน
- สำรวจกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ว่ามีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่ และได้มีการต่ออายุกรมธรรม์เรียบร้อยแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัย สมาคมฯ ขอแนะนำให้ผู้เอาประกันภัยตรวจสอบความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่ท่านทำไว้ ดังนี้
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วมเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 หรือ กรมธรรม์ประเภท 2+ / 3+ (เฉพาะกรมธรรม์ที่ขยายความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติเท่านั้น)
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วม
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วม เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมเท่านั้น
- กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วม
- กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี หรือกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติกรณีน้ำท่วม
"ปัจจุบันภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วม ได้สร้างความสูญเสียหรือความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความห่วงใยผู้เอาประกันภัย รวมถึงผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป จึงขอแจ้งเตือนผู้เอาประกันภัยรวมถึงประชาชนทั่วไป ได้เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม หากเกิดภัยน้ำท่วมขึ้นไม่ว่าที่ใดที่ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย ธุรกิจประกันวินาศภัยก็พร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างผู้เอาประกันภัยในการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้าย
ที่มา: สมาคมประกันวินาศภัยไทย