นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้กล่าวถึง การปรับตัว และความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานและวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ส.อ.ท. ได้วางแผนการขับเคลื่อนทั้ง First Industries อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ New S-Curve อุตสาหกรรมใหม่ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีแนวโน้มสูงมากที่จะเติบโตในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิมนั้น ส.อ.ท. ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ONE F.T.I. มีเป้าหมายร่วมกันที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วย One Vision, One Goal and One Team ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ เข้ามาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ (Bio-Circular-Green Economy) ไปพร้อมกัน
- เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยสอท ได้จัดทำ Smart Agriculture Industry หรือ SAI in the City มุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ เป็นสำคัญ
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) : ลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง และไม่ให้เกิดของเสีย หรือลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero-Waste)
- เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) : การทำโครงการอุตสาหกรรมเมืองน่าอยู่ (Eco Factory) เพื่อให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่รวมกันได้ ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้กล่าวเปิดการสัมมนา และปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความตึงเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก จากการคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงิน และบริษัทพลังงานหลายแห่งระงับการลงทุนในรัสเซีย ประกอบกับกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในแต่ละเดือน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงในรอบ 14 ปี ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ขณะที่สถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับราคาก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ประกอบกับเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว และหลายประเทศมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยในระยะถัดไป จากผลของการปรับดอกเบี้ยที่ปรับตัวแรงและปัจจัยน้ำมันที่อยู่เหนือการควบคุมจากปัญหาสงคราม เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
สำหรับแนวทางแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการพลังงานในช่วงของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านการจัดหาพลังงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาตลอด ด้านราคาน้ำมันที่สูงมากไปนั้นมีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการอุดหนุน รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว ส่วนด้านราคาค่าไฟฟ้า ได้บริหารจัดหาเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า ประคองค่าเอฟทีให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนน้อยที่สุด สำหรับการปรับตัว และความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานโลกนั้น จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น การค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานรูปแบบ online เพิ่มมากขึ้น เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยมีการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
ที่มา: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย