ในการนี้ กพร.ปจ. ได้มีการติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดจันทบุรี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2670) และพิจารณาประเด็นจากคณะทำงานขับเคลื่อนแผนฯ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุง แนวทางการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในระดับจังหวัด ซึ่งมีข้อสรุปพอสังเขป ดังนี้
1. ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัด ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) จากผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 พบว่า ยังมีหน่วยงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูล แผน-ผล จึงเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการรายงาน และให้ฝ่ายเลขานุการ ติดตาม ประสานงาน อย่างต่อเนื่อง
2. เห็นชอบในหลักการตามประเด็นทบทวนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดจันทบุรี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามที่คณะทำงานฯ เสนอผ่านฝ่ายเลขานุการ
3. เห็นชอบให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจันทบุรี นำแนวทางจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 มาตรา 26 ไปจัดทำมาตรฐานผู้ประกอบอาชีพ "นักคัด นักตัด ทุเรียน" ร่วมกับหน่วยงานภาคเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างยั่งยืน
4. เพื่อให้การรวบรวมข้อมูลการพัฒนากำลังคนครอบคลุมการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในจังหวัด จึงเห็นควรให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ดำเนินการพัฒนากำลังคน/พนักงานของตน ที่มีพนักงานต่ำกว่า 100 คน ลงทะเบียนและบันทึกข้อมูลการฝึกอบรมในระบบการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการได้ทราบและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างทั่วถึงต่อไป
5. เพื่อให้การพัฒนากำลังคน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชน ที่มีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วน ควรให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องแต่ละประเด็นจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงาน เช่น การเทียบโอนหน่วยกิต (Credit bank) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิทยากร ทรัพยากรต่างๆ เป็นต้น
6. เนื่องจากจังหวัดจันทบุรี มีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่สำคัญของจังหวัด โดยเฉพาะภาคเกษตร และท่องเที่ยว บริการ จึงเห็นควรให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจันทบุรี ร่วมกับสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา จันทบุรี ร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนเชิงยุทธศาสตร์ (จันทบุรีโมเดล) ผ่าน กรอ. เพื่อเสนอต่อฝ่ายนโยบาย พิจารณาให้สามารถพัฒนาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจันทบุรี