อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย บรรยายในหัวข้อ ศิลปาชีพในมิติจักสาน : จากงานพื้นบ้าน สู่หัตถศิลป์ไทย โดยกล่าวว่า การทำเครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมแรกที่มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์รู้จักและทำใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งมีการพบชิ้นส่วนเครื่องจักสานกับโครงกระดูกมนุษย์ผ่านแหล่งโบราณคดีเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อน และปรากฏหลักฐานวัฒนธรรมการทำเครื่องจักสานแพร่หลายในทุกภูมิภาคไทย จะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปสุภาพสตรีกำลังตักน้ำโดยใช้น้ำทุ่ง ซึ่งเป็นภาชนะจักสานจากไม้ไผ่ หรือ ภาพการใช้กระบุง ที่ทางเหนือเรียกกันว่า "บุง หรือ เปี๊ยก" ซึ่งเป็นงานจักสานที่สุภาพสตรีใช้ใส่ข้าว หมาก พลู ไปขายที่ตลาด ภาพถ่ายสุภาพบุรุษชาวอีสานในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่กำลังสะพายกระติ๊บข้าว ภาพถ่ายสุภาพสตรีชาวอีสานที่อยู่ทางริมแม่น้ำโขง ที่ใช้อุปกรณ์ทำประมงจากหวาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า งานจักสานแฝงอยู่ในราชสำนักมาโดยตลอด เห็นได้จากภาพธิดาพระโอรสธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มีกระเป๋าย่านลิเภาวางอยู่ในภาพ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นการทำจักสานย่านลิเภา ฟื้นราชประเพณีต่าง ๆ ในราชสำนักขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีของใช้โบราณที่เป็นย่านลิเภาเป็นจำนวนมากที่พบในตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พบในคลังพระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นต้น
"ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทรงงานทุกภูมิภาคและทรงเลือกหาวัสดุที่อยู่ในพื้นเมือง เช่น ทรงงานย่านลิเภา โปรดให้จัดตั้งกลุ่มจักสานย่านลิเภาขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดแรกหลังจากนั้นก็กระจายกันออกไป จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลุ่มสานเสื่อกระจูดที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งชาวบ้านที่นี่เป็นสุภาพสตรีมุสลิมที่มีความสามารถในการจักสาน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำลายจากหมอนขิดในภาคอีสานมาพัฒนาให้เป็นผืนผ้าที่มีหน้ากว้าง เพื่อนำมาตัดเสื้อผ้า ในขณะเดียวกันก็ทรงนำเอาลายขิดมาใช้กับเครื่องจักสาน เช่น การทำกระเป๋า เสื่อ ฯลฯ จะเห็นว่าจากงานจักสานพื้นบ้าน สามารถพัฒนาสู่การจักสานสร้างงานในราชสำนัก และยังสร้างอาชีพสร้างรายได้ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานให้กับคนไทยทั้งประเทศ
ดร.ดลยา เทียนทอง รองผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ "การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม : มองจักสานผ่านย่านลิเภา โดยกล่าวว่า ในอดีต ย่านลิเภา เป็นวัชพืชที่เกิดขึ้นเองพบมากในจังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะคล้ายเถาวัลย์อยู่ตามใต้ต้นยาง แต่ด้วยวิถีของคนในพื้นที่จึงได้นำมาสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น พาน กระบุง ตะกร้า ฯลฯ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นและจุดประกายชีวิตให้ความงดงามแก่จักสานย่านลิเภา จึงก่อให้เกิดเป็นหัตถกรรมพื้นถิ่นที่สามารถสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทำให้ความงดงามของจักสานย่านลิเภายิ่งมีความประณีตโดดเด่นและมีชื่อเสียงมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีโครงสร้างการจัดการที่เป็นระบบและครบวงจร จวบจนถึงปัจจุบันกว่า ๕ ทศวรรษ แห่งการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สามารถสร้างช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานชั้นครู และเพิ่มจำนวนช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานย่านลิเภา สร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างผลิตภัณฑ์และผลงานอันทรงคุณค่า จนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงสร้างพื้นที่รับซื้อและแหล่งจำหน่าย ตลอดจนพื้นที่เผยแพร่จัดแสดง ให้เกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ
"จักสานย่านลิเภา นอกจากมีความงดงามที่ปรากฏภายนอกแล้ว ยังพบการปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน นั่นคือ ทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิม ระหว่างคนในเมืองและคนในพื้นที่ชนบท รวมทั้งกลุ่มแนวคิดเชิงอนุรักษ์และกลุ่มแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งทำมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและสัมผัสในวิถีวัฒนธรรมของกันและกัน ทั้งยังเปิดพื้นที่สาธารณะให้ชาวต่างชาติเข้ามาชมความงดงามของจักสานย่านลิเภาผ่านการจัดแสดงในโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ หลายภาคส่วนในสังคมไทยทั้งภาคท้องถิ่น ภาครัฐ องค์การมหาชน และภาคเอกชน มีการตื่นตัวและเกิดกระแสการขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งก็รวมถึงงานจักสานย่านลิเภาอย่างกว้างขวาง นับได้ว่างานจักสานย่านลิเภาเป็นพื้นที่หนึ่งที่สะท้อนภาพความเป็นพหุวัฒนธรรม สามารถทำให้ผู้คนในสังคมเกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่น เกิดการยอมรับ ยกย่อง ชื่นชม และให้เกียรติทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นผลสำคัญจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และการดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เป็นดั่ง "พลังส่องแสง พลังสร้างสรรค์ พลังเสริมส่ง และพลังสืบสาน" อย่างแท้จริง
สำหรับการเสวนาทางวิชาการในงานนิทรรศการ "เพียรสาน...งานศิลป์" ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในหัวข้อ "นำอดีต สู่ปัจจุบัน และก้าวพร้อมกันในอนาคตกับงานจักสานไทย" เสวนาโดย ช่างสาน งานศิลป์ นายมะรอพี แดเนาะ ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานย่านลิเภา, นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานกระจูด, นางสาวระเบียบ สุขสุพุฒิ ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานไม้ไผ่ลายขิด ดำเนินรายการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ -๑๕.๓๐ น. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาส ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐๒-๒๘๑-๕๓๖๐-๑
ที่มา: ซิกซ์ ดีกรีส์ คอมมิวนิเคชั่น