โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาในครั้งนี้ เป็นการขยายผลมาจากความสำเร็จในการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจังหวัดพะเยาและเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยาเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้คณะผู้วิจัยและพี่เลี้ยงลงพื้นที่ในการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำการวิจัยมาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของผู้เรียน การคิดอย่างเป็นระบบ ฝึกฝนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ ก่อให้เกิดทักษะและสมรรถนะอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองภายใต้บริบทชุมชนของตนเอง
โดยมีคณะผู้วิจัยและพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยพะเยา ที่จะช่วยส่งเสริมกระบวนการพัฒนาสมรรถนะครูในด้าน Spirit of Teacher, Visible Learning และ Learning Designer สามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียนได้อย่างเด่นชัด เวทีประลองปัญญา Eduthon ของโรงเรียนภายใต้โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาในวันนี้ เป็นเวทีที่ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยคณะครูและนักเรียน ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์และต่อยอดองค์ความรู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
กิจกรรมในระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2565 เป็นการนำนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ดูงาน ณ สำนักทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน ลงพื้นที่ แบ่งกลุ่มตามจำนวนฐานเรียนรู้ คือ
- การปลูกพืชเศรษฐกิจแบบใช้ดิน
- การปลูกพืชเศรษฐกิจไร้ดิน
- การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ
จากนั้น รับฟังการบรรยายจากวิทยากร การนำเสนอแนวคิดในประเด็น "การพัฒนาเมืองน่านน่าอยู่ในอนาคต" โดยมีผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการลงความเห็น เพื่อคัดเลือกทีมที่เข้ารอบจำนวน 12 ทีม เข้าร่วมกิจกรรม Eduthon อีกครั้ง ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2565 ณ น่านกรีนเลควิว รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยแบ่งทีมนักเรียนที่ผ่านเข้ารอบเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เรียนรู้ดูงาน ณ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
กลุ่มที่ 2 เรียนรู้ดูงาน ณ อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน
โดยแต่ละทีมนำเสนอแนวคิด "การพัฒนาพื้นที่เพื่ออยู่ได้ ขายคล่อง รักษ์น้า จัดการยั่งยืน เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งจัดหาทรัพยากร แลกเปลี่ยนสินค้า และรายได้หมุนเวียน" และจะประกาศรายชื่อทีมที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อไปนำเสนอรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 6 ทีม (จากบ่อเกลือ 3 ทีม จากเมืองลี 3 ทีม) ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา