"ชัยวุฒิ" โชว์ผลงาน 5 ภารกิจไฮไลท์รอบ 1 ปี

ศุกร์ ๑๖ กันยายน ๒๐๒๒ ๑๖:๐๘
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวแถลงผลงานรอบ 1 ปี ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้เพิ่มบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยรูปแบบใหม่อย่างอาชญากรรมออนไลน์ ที่ขยับเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น ตามความแพร่หลายของการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดีย
ชัยวุฒิ โชว์ผลงาน 5 ภารกิจไฮไลท์รอบ 1 ปี

สำหรับ 5 ภารกิจที่เลือกมาเป็นผลงานไฮไลท์ ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เพื่อปักหมุดสถานะด้านดิจิทัลของประเทศไทยบนแผนที่โลก การวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเพื่อเพิ่มปัจจัยบวกต่อการเติบโตของจีดีพี การเตรียมพร้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Ecosystem) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และการสร้างช่องทางออนไลน์ที่สะดวกปลอดภัยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

ประกอบด้วย 1.ดันดิจิทัลติดอันดับโลก ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านดิจิทัลที่น่าพอใจจากรายงานระดับโลกของ We are Social โดยรายงานอัพเดทล่าสุด Digital 2022 July Global Statshot Report ซึ่งทำการเก็บข้อมูลจากมากกว่า 220 ประเทศ พบว่าสถานะด้านดิจิทัลของประเทศไทยบนแผนที่โลก ติดอันดับต้นๆ ในหลายหัวข้อ ได้แก่ อันดับ 1 ของโลกในการซื้อสินค้าออนไลน์ อันดับ 3 ในเรื่องความเร็วเน็ตบ้าน (Fixed Internet Connection Speed) ด้วยสปีดที่อัพขึ้นจากปีก่อนหน้า 15.9% อ้นดับ 3 ในการเสพข่าวผ่านออนไลน์/ใช้โซเชียลเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อันดับ 4 ของโลกในการถือครองเงินคริปโต อันดับ 7 ในการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือ อันดับ 7 ในการท่องอินเทอร์เน็ตโดยใช้เวลาวันละกว่า 8 ชั่วโมง อันดับ 8 ของการใช้ระบบจดจำรูปภาพผ่านมือถือ อันดับ 9 ของการใช้เครื่องมือแปลภาษาออนไลน์ อันดับ 10 ของโลกในการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านมือถือ

ขณะที่ ภาพรวมสถานะของประเทศไทยในภูมิทัศน์ดิจิทัลระดับโลก เมื่อช่วงต้นปีทาง We are Social ก็ได้สรุปตัวเลขไว้ว่า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้มือถือของคนไทยมากกว่า 95 ล้านเลขหมาย แซงหน้าจำนวนประชากรทั้งประเทศไปแล้ว และกว่า 77% ของประชากรไทยเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเป็นจำนวนที่เพิ่มจากปี 64 ชาวไทยกว่าเกือบ 57 ล้านคนเป็นสาวกโซเชียล

2.การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) โดยขับเคลื่อนผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดฯ ปัจจุบันมีดิจิทัลสตาร์ทอัพ เข้าสู่การจัดตั้งบริษัทที่จดทะเบียน และเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ (Digital Startup Business) เกิดการพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และขยายธุรกิจ จำนวน 139 ราย สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2562 - 2565 (ไตรมาส 3) ประมาณ 16,822 ล้านบาท

"เรามีการส่งเสริมให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยแสดงศักยภาพผ่านเวทีระดับอาเซียน "ASEAN ICT Awards" มาอย่างต่อเรื่อง โดยในปี 64 มีดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยได้รับรางวัลจากการประกวด ASEAN ICT Awards 2021 ถึง 4 ราย ครอบคลุม หมวดงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน ICT

หมวด Private Sector ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้าน ICT ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หมวด Start-up Company นวัตกรรมด้าน ICT และหมวด Digital Content" นายชัยวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค. 65 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการภาษี สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งลงทุนโดยตรง และลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital (CVC) จะช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย ระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่ม โดยเว้นเก็บภาษีผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gains Tax) เป็นเวลา 10 ปี

3.การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ เว็บพนัน และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตยุคดิจิทัล และชีวิตวิถีใหม่ ที่แทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โดยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดกั้น SMS หลอกลวง จำนวน 46,219 เลขหมาย อายัดบัญชี 28,381 บัญชี และช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ได้ปิดกั้นเว็บพนันออนไลน์ตามคำสั่งศาลแล้ว 2,819 เว็บไซต์

ขณะที่ การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งไทยและกัมพูชา มีการทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam เมื่อเดือน ก.ค. 65 กำลังอยู่ในขั้นตอนการแต่งตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Committee) รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะอนุฯ ทำงานด้านการประสานงานการสืบสวน จับกุม และส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างสองประเทศ

4.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มมูลค่า GDP โดยจากนโบยายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้าไปครองสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2570

"สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เคยจัดทำรายงานระบุว่า เมื่อปี 2561 มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพีประเทศไทย อย่างไรก็ตาม วิกฤติแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา กลายเป็นตัวเร่งความเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยเติบโตขึ้น 51% จากปี 63 จากปัจจัยหนุนของตัวเลขเติบโตในหลายธุรกิจดิจิทัล เช่น อี-คอมเมิร์ซ โตขึ้น 68% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด คนไทยใช้บริการผ่านแอปต่างๆ สูงขึ้นกว่า 20% บริการดิจิทัลเติบโต 44% ดังนั้นมั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้นสามารถบรรลุได้แน่นอน" นายชัยวุฒิกล่าว

และ 5.เสิร์ฟบริการรัฐผ่านดิจิทัล ภายใต้หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ผ่านโครงการต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 'สังคมไร้เงินสด' (Cashless Society) ผ่านบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) และแอพพลิเคชั่น 'เป๋าตัง' สร้างทางลัดให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสการทำธุรกรรมและค้าขายทางออนไลน์ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

ล่าสุด ได้ต่อยอดสู่การเป็นช่องทางบริการภาครัฐ อำนวยความสะดวกประชาชน ตอบสนองจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนบูรณาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้สามารถการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหลายๆ หน่วยงานได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลจนเกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างความพึงพอใจต่อประชาชนผู้มาใช้บริการ

โดยในส่วนของ PromptPay ได้ต่อยอดสู่การเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และผู้มีสิทธิ ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน กับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ได้ทุกธนาคาร

ขณะที่ แอป "เป๋าตัง" ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อเป็นช่องทางรับสิทธิต่างๆ จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ล่าสุดได้รับการขยายผลสู่การเป็นเครื่องมือแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน จากปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา โดยมีการเชื่อมต่อ "เป๋าตัง" กับการจำหน่ายสลากผ่านโครงการ GLO Official Sellers ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (GLO) โดยผู้ซื้อสามารถกดเข้าไปเลือกสลากดิจิทัลได้โดยตรง ซึ่งจะมีทั้งฟีเจอร์ผู้ค้าปกติ และฟีเจอร์ร้านค้าผู้พิการ

ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ชัยวุฒิ โชว์ผลงาน 5 ภารกิจไฮไลท์รอบ 1 ปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม