รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวงการ อว. มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกรวมกับศิลปศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า บีซีจีโมเดล หรือ BCG Economy Model ซึ่งต้องอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งบีซีจีโมเดล ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน กระทรวง อว. ถือเป็นกระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งโอกาส เนื่องจากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เพียบพร้อมด้วยหน่วยงานด้านวิจัยพัฒนา สถาบันการศึกษา ซึ่งล้วนประกอบด้วย บุคลากรที่มีองค์ความรู้และทักษะที่เข้มแข็ง อยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
"...ที่ผ่านมาผมได้มอบนโยบายสำคัญประการหนึ่ง คือ การเร่งผลักดันและระดมสรรพกำลังจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่เป็น "อว. ส่วนหน้า" ในการประสานความร่วมมือ ทำงานในพื้นที่ร่วมกับทุกจังหวัด นำ "บีซีจี โมเดล" มาขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลงานสำคัญที่เห็นเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งความร่วมมือของทุกหน่วยงานในวันนี้จะเป็นการสานต่อผลสำเร็จจากโครงการ U2T เพื่อให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ในชุมชน ช่วยสร้างอาชีพให้กับประชาชน ช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้มีการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน..." ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของ กระทรวง อว. คือ สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในระดับอาชีวะ โดยใช้ทรัพยากรจากมหาวิทยาลัย ทั้งทรัพยากรบุคคล หรือองค์ความรู้ ร่วมกัน เพื่อพัฒนาให้อาชีวะศึกษา เป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดแนวทางการทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ กระทรวง อว. พร้อมที่จะส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ การทำงานพร้อมไปกับการเรียน และได้รับวุฒิการศึกษาระดับปริญญา โดยมีการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยุทธศาสตร์บีซีจี เพื่อร่วมสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด การเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"... ในนามของกระทรวง อว. ผมขอร่วมแสดงความยินดีกับทุกๆหน่วยงานในวันนี้ ที่ได้มีการร่วมประสานพลังเพื่อทำงานภายใต้บันทึกความเข้าใจและความร่วมมือที่เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ในการที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว เชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเป็นการนำศักยภาพของบุคลากรและองค์ความรู้ตลอดจนทักษะความเชี่ยวชาญต่างๆ ขององค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผนวกเข้ากับการสนับสนุนจากหน่วยงานสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้เกิดความแข็งแกร่ง และสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการขับเคลื่อนประเทศไทย อีกทั้งตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งในประเทศ ตลอดจนยังเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานใหม่ๆ ในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จด้วยดี และขอขอบคุณ ท่านผู้บริหาร ท่านอาจารย์ นักวิจัย และผู้สนับสนุนทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจผนึกกำลังในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน..."ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวในช่วงท้าย
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวแสดงเจตนารมณ์ในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่า เป็นการผนึกกำลังที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนา เพื่อประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี งานบริการต่างๆ ของทั้ง 18 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้มีการประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการหาแนวทางการใช้ทรัพยากรของหน่วยงานร่วมกัน เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ขยายผลและต่อยอดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วยวิธีบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมพัฒนาบุคลากรของทั้ง 18 หน่วยงาน รวมถึงการสร้างศักยภาพบุคลากรบัณฑิตของประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างยั่งยืน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว วว. มีความพร้อมในการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกับ 17 หน่วยงานพันธมิตร ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ วว. มีความเชี่ยวชาญมากว่า 59 ปีและได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมสาขาการวิจัยพัฒนาและการให้บริการครบวงจร ที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ตามวิสัยทัศน์ของ วว. ที่ระบุว่า สร้างความเข้มแข็งให้ SME และชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน
ภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ทั้ง 18 หน่วยงานได้ประชุมหารือความร่วมมือ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีข้อสรุป ดังนี้
- นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้มุ่งพัฒนาเป็นต้นแบบสาธิตอาชีวศึกษาให้กลุ่มประเทศ CLMV (Thai Kosen) พัฒนาให้สมุยเป็นต้นแบบเมือง BCG (ควบคู่กับจังหวัดนครสวรรค์และทุ่งกุลาร้องไห้) เน้นการทำงานแบบ Giant step ฝึกให้ทำวิจัยตั้งแต่ระดับเยาวชนในระดับพื้นที่เพื่อร่นระยะเวลา
- ข้อหารือของหน่วยงานสนับสนุน มีดังนี้
2.1 มทร. ทั้ง 9 แห่ง สนับสนุนเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สหกิจศึกษา เช่น การอภิบาลผู้สูงอายุ การพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรด้านการเกษตร (ทุ่นแรง)
2.2 มรภ.สุราษฎร์ธานี สนับสนุนเรื่องการเป็นพี่เลี้ยงเทคโนโลยีในพื้นที่ การสร้างทักษะ soft skill วิศวกรสังคม (การปลดล็อกศักยภาพของคนในสังคม) โดยจะขยายผลการกิจกรรมในอาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.3 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนการเรียนการสอนด้านการเกษตร (หลักสูตรวิศวกรรมบัณฑิต นวัตกรรมเกษตร re-inventing) โรงเรือน evap การออกใบรับรองด้านการเกษตร smart farming
2.4 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนับสนุนการเรียนการสอนด้านการท่องเที่ยว (มีต้นแบบการเรียนการสอนจากประเทศเยอรมนี) และการโรงแรม หลักสูตร pro-chef และการผลิตพืชผักปลอดสารพิษในโรงเรือน
2.5 สวทช. สนับสนุนการสร้าง Social Doctor โดยใช้การจัดการหลักสูตรฐานสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ เจตนคติ) การสร้างความมั่นใจให้พร้อมสำหรับการทำงาน การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ต้นทุนต่ำ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรอภิบาลผู้สูงอายุ หรือหลักสูตรอบรมอาชีพระยะสั้น
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย