มีการจัดพิธีฉลองการเริ่มต้นการดำเนินงานในวันนี้ โดยมีประธานในพิธีคือจอห์น ที ยู ( John T. Yu) ประธานเครือซีทีซีไอ บุคคลสำคัญผู้เข้าร่วมงานนี้มีทั้งเหวยเฉอ หวง (Wei-che Huang) นายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน และอาเธอร์ ฉวง (Arthur Chuang) รองประธานบริษัททีเอสเอ็มซี
"การใช้ประโยชน์จากน้ำบำบัดที่นำกลับมาใช้ใหม่เป็นทรัพยากรน้ำมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก" จอห์น ที ยู ประธานซีทีซีไอ กรุ๊ป กล่าวระหว่างพิธีเปิด "เรายินดีที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับทีเอสเอ็มซี ซึ่งมีพันธกิจและวิสัยทัศน์เช่นเดียวกับเราในด้านความยั่งยืนเพื่อทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง ผมเชื่อว่าโรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แห่งนี้ได้สร้างหมุดหมายใหม่ในแง่ของการใช้น้ำซ้ำและการลดของเสีย"
"ทีเอสเอ็มซีดำเนินการผลิตสีเขียว ดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นในการขยายทรัพยากรน้ำที่หลากหลาย" ดร.อาเธอร์ ฉวง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการและโรงงานของทีเอสเอ็มซี กล่าว "โรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ของทีเอสเอ็มซีในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ เป็นหมุดหมายสำคัญในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียวระดับโลก ด้วยการร่วมมือกับซีทีซีไอ เราได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ฟื้นฟูปรับสภาพน้ำเสียจากอุตสาหกรรมให้สอดรับกับมาตรฐานด้านความสะอาดของกระบวนการเพื่อให้ใช้ซ้ำในการผลิตสารกึ่งตัวนำได้ ทีเอสเอ็มซีตั้งตารอที่จะได้ดึงดูดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ หันมาร่วมกันสนับสนุนการใช้น้ำบำบัดเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิมให้เกิดขึ้น"
ซีทีซีไอได้รับมอบหมายจากบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี ( Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) หรือทีเอสเอ็มซี (TSMC) ให้ออกแบบ สร้าง เป็นเจ้าของ และดำเนินการโรงงานแห่งนี้ในตลอด 20 ปีข้างหน้านี้ เพื่อผลิตน้ำสะอาดให้กับธุรกิจผลิตชิปของทีเอสเอ็มซี โรงงานมีแหล่งน้ำจากน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการทำชิป ประกอบกับน้ำที่ปล่อยออกจากโรงงานบำบัดน้ำเสียในนิคมวิทยาศาสตร์แห่งนี้ ปัจจุบันโรงงานนี้ผลิตน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพได้ 5,000 ตันต่อวัน และจะผลิตได้มากถึง 20,000 ตันต่อวันในอีกหนึ่งปีนับจากนี้ โรงงานบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกสองแห่งของท้องถิ่น ได้แก่ หย่งคัง (Yong-Kang) และอันผิง (An-Ping) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะร่วมกับโรงงานตั้งต้นแห่งนี้เป็นขั้น ๆ ในการผลิตน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพเพิ่มเติม
ถือเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมชิปที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก ขณะที่โรงงานผลิตชิปของทีเอสเอ็มซีภายในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ ( Southern Taiwan Science Park หรือ STSP) นับแต่นี้จะเริ่มได้รับน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างน้อย 5,000 ตันต่อวัน และจะได้รับน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพ 67,000 ตันต่อวันภายในปี 2567 ซึ่งเท่ากับ 68% ของน้ำของเมืองที่ใช้โดยโรงงานผลิตของทีเอสเอ็มซีในนิคมวิทยาศาสตร์ไต้หวันใต้ในปี 2564
ซีทีซีไอซึ่งมีประสบการณ์กว้างขวางในด้านการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ได้ใช้เทคโนโลยีบำบัดชีวภาพที่ก้าวหน้าในการลดปริมาณพลังงานที่ต้องใช้และลดตะกอนที่เกิดจากการบำบัดชีวภาพด้วยการเติมอากาศ ( aeration bio-treatment) แบบดั้งเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ ผลที่ได้คือโรงงานก่อมลพิษน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง และมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น สำหรับการขยายโรงงานในอนาคต ซีทีซีไอมุ่งใช้ประโยชน์จากความร้อนที่หลงเหลือจากโรงงานผลิตพลังงานจากของเสียในบริเวณใกล้เคียง ในการทำความร้อนให้กับน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานแห่งนี้อีกทีหนึ่ง และในการกลั่นควบแน่นและกักเก็บไอน้ำที่เกิดขึ้นเพื่อผลิตน้ำบำบัดฟื้นฟูสภาพให้ได้อีก 16,000 ตันต่อวัน
เกี่ยวกับซีทีซีไอ http://www.ctci.com
ซีทีซีไอ ( CTCI) (TWSE: 9933, TPEx: 5209, TPEx: 6803) เป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมระดับโลกที่นำเสนอบริการ ผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นที่หลากหลายและครอบคลุม ซีทีซีไอก่อตั้งขึ้นในปี 2522 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้บริการด้านวิศวกรรม การจัดซื้อจัดหา การผลิต การก่อสร้าง การทดสอบเดินระบบ และการบริหารโครงการที่เชื่อถือได้มากที่สุดในโลก ซีทีซีไอมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไทเป ไต้หวัน โดยให้บริการแก่ตลาดไฮโดรคาร์บอน ปิโตรเคมี พลังงาน สิ่งแวดล้อม การขนส่ง เทคโนโลยีขั้นสูง และภาคอุตสาหกรรม บริษัทเป็นผู้ให้บริการ EPC ชั้นนำของไต้หวัน โดยมีพนักงานประมาณ 7,000 คนประจำบริษัทในเครือประมาณ 40 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ซีทีซีไอเป็นสมาชิกของดัชนี Dow Jones Sustainability(TM) Emerging Markets Index
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่ http://www.ctci.com/www/ctci2022/page.aspx?L=EN&C=0902