นายเอกภาพ พันธะวงศ์ รองเลขาธิการอาเซียน ฝ่ายประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เผยในสุนทรพจน์เปิดงานว่า "การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการเปิดเวทีหารือและประสานความร่วมมือ ในการบ่มเพาะบุคลากรผู้มีทักษะด้านนวัตกรรมไอซีทีในภูมิภาค สำรวจสถานะปัจจุบัน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัล และร่วมหารือถึงขั้นตอนต่อไปในการพัฒนาต่อยอด"
ด้านนายเจฟฟ์ หวัง ประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อธิบายเป้าหมายของบริษัทในการบ่มเพาะบุคลากรผู้มีทักษะด้านไอซีทีว่า "การเชื่อมต่อระหว่างผู้คนและการเสริมทักษะบุคลากรรุ่นใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกมาเป็นเวลากว่า 20 ปี เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต และปัจจุบันเรามุ่งฝึกอบรมผู้มีทักษะด้านไอซีทีในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายฝึกอบรมบุคลากรจำนวน 500,000 คนภายใน พ.ศ. 2569"
ภายในงาน ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนบุคลากรผู้มีทักษะด้านดิจิทัลในประเทศของตน โดยดร. พิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า "ในประเทศไทยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มและแหล่งข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ทางไกล เช่น การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Digital Learning Television - DLTV) เพื่อมอบโอกาสเรียนรู้ให้ทุกคน อนาคตของการศึกษาจะขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้การศึกษาของประเทศเรามีความเท่าเทียม ครอบคลุม และมีคุณภาพมากขึ้น"
นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหารหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวว่า "เกือบทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกกำลังมุ่งเสริมศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านไอซีที เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในฐานะบริษัทระดับโลกที่หยั่งรากลึกในท้องถิ่น หัวเว่ยมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับอีโคซิสเต็มบุคลากรดิจิทัล ผ่านความเป็นผู้นำ การถ่ายทอดทักษะ และองค์ความรู้"
ในช่วงครึ่งหลังของงานประกอบไปด้วยการนำเสนอรายละเอียดของสมุดปกขาวในหัวข้อ "การพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand's National Digital Talent Development)" ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในเดือนตุลาคมนี้ การเปิดตัวโครงการฝึกอบรมระดับนานาชาติครั้งแรกของหัวเว่ยในเรื่องโซลูชันการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงมาตรฐานการรับรองความปลอดภัย และการอภิปรายเกี่ยวกับการลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19
ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงความสำคัญของการเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมเสนอความเห็นในการกำหนดนโยบายการลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และกระตุ้นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และรัฐบาลในการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์