รศ. ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โดยปกติแล้วผู้คนในแต่ละภูมิภาคมักมีอาหารการกินดีอยู่ดีไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใดก็ตาม แต่จากสถานการณ์ผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดปัญหาความขาดแคลนส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก โดยมีเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอาหาร (Food Supply Chain) ในฐานะที่รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอันดับต้นๆ ของโลก สงครามทำให้การส่งออกปุ๋ยชะงักงัน จึงมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร และผลผลิตของโลกได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทางด้านยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก สงครามทำให้การส่งออกข้าวสาลียากลำบากมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณข้าวสาลีมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคของคนทั้งโลก
นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) จากการปศุสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ที่ปล่อยก๊าซมีเทนจนทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ได้นำไปสู่การรณรงค์ลดการบริโภคสัตว์ใหญ่ และให้บริโภคโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) ทดแทน ในส่วนปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่งหยุดชะงักส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง คือ กระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จากปัจจัยปัญหาดังกล่าว เป็นแรงกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันกลับมาใส่ใจเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กรุ่นใหม่ หรือ สื่อมวลชน ที่ต้องสะท้อนปัญหาให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" โดยไทยให้ความร่วมมือทางด้านการเกษตร ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG :Bio-Circular-Green Economy ควบคู่กับนโยบาย 3S ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเปค
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบาย และแนวคิดดังกล่าว สจล. จึงร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ "APEC and Food Security: Sustainability beyond global uncertainties" เพื่อระดมสมอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับวิกฤติการณ์ความยั่งยืนทางอาหารของโลก โดยเปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน เยาวชน และผู้แทนจากกลุ่มเอเปค เข้าหารือแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ และครบถ้วนตามโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และเข้าถึงแหล่งทำกินได้
นอกจากนี้ สจล. ยังได้ยกนิทรรศการข้าวไร่ จาก สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ Upland Rice : FIGHT Global Crisis โดยมี รศ. ดร.ร่วมจิต นกเขา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มาให้ความรู้ ด้านการแก้วิกฤติความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศด้วยข้าวไร่ เนื่องจากข้าวไร่เป็นพืชที่มีความมั่นคงทางอาหาร ทั้งข้าวพันธุ์ภูเขาทอง ข้าวพันธุ์ดอกขาม ข้าวพันธุ์เล็บนก และข้าวพันธุ์สามเดือน ที่สามารถใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อการบริโภคได้ อีกทั้งข้าวไร่ยังทนต่อสภาพภูมิอากาศในแบบต่างๆ ได้ดี สามารถใช้ปลูกแซมกับพืชชนิดอื่นๆ อาทิ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หรือยางพารา เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินได้สูงสุด ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางส่งเสริมให้เกิดการเกษตรที่ยั่งยืน มุ่งสู่แนวคิดความยั่งยืนทางอาหารทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลก
ทั้งนี้ กิจกรรมการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ 8 "APEC and Food Security: Sustainability beyond global uncertainties" ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. ได้ที่
เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์