รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากที่คณะฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. ให้ดำเนินโครงการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งต่อความมั่นคงด้านการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง
ซึ่งเป็นกรณีศึกษาต้นแบบในการประเมินการใช้ที่ดิน และสภาพความสมดุลของน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่
จากการติดตามปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรด้วยข้อมูลดาวเทียม และแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งแบบจำลองการประเมินความสมดุลของน้ำจากกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ พบว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จางในช่วงพ.ศ.2524 - 2563 โดยเฉลี่ย คือ 1,173 มิลลิเมตรต่อปี และมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 952 มิลลิเมตรต่อปี
และในช่วงพ.ศ.2564 - 2580 มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง952 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งสภาพสมดุลของน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ปัญหาภัยแล้งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยง และช่วงเวลาของการเกิดภัยแล้ง และศักยภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะในการปลูกพืชเกษตร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม อันจะเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์การศึกษาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เพื่อการจัดการลุ่มน้ำอย่างบูรณาการในทางภาคเหนือ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเผยแพร่ และถ่ายทอดข้อมูลจากโครงการดังกล่าว ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถนำไปเตรียมการรับมือต่อความเสี่ยงของภัยแล้งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
โดยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร มุ่งเน้นการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ และข้อเสนอแนะตามมาตรการการอนุรักษ์ดินและน้ำ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ระบบลุ่มน้ำที่สมบูรณ์ จะต้องมีลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่สมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมของลุ่มน้ำร่วมด้วย ซึ่ง "ต้นน้ำที่มีพืชปกคลุม" จะช่วยลดปัญหา "น้ำป่าไหลบ่า" อย่างรวดเร็วได้ จึงควรให้ความสำคัญ และร่วมมือกันตั้งแต่ชุมชนต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ ในการจัดการพื้นที่ให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายชุมชน ทำให้ที่ผ่านมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถทำหน้าที่ในการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการช่วยขับเคลื่อนให้วิกฤติการณ์จากภัยแล้งในพื้นที่ลดลง
ท่ามกลางปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต นอกจากการเป็นที่พึ่งพิงทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน
ขอเพียงช่วยกันดูแลผืนป่า และต้นน้ำเพื่อรักษาสมดุลตามธรรมชาติ เชื่อว่าไม่เพียงจะช่วยประเทศชาติให้พ้นภัยวิกฤติเศรษฐกิจ จากการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม ยังเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากปัญหาทางสุขภาวะอย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล