นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ในฐานะองค์กรสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล โดยมุ่งหวังว่าการจัดการประชุมจะนำไปสู่การทบทวนการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนงาน CBR ในช่วงปี 2563 - 2565 ซึ่งองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะพัฒนาไปสู่แนวทางการทำงาน CBR ในทศวรรษที่ 3 ที่มีคุณค่าและมีความหมายยิ่งต่อชุมชน สังคมที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม
"วช. ในฐานะองค์กรผู้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อการวิจัย จึงขอส่งพลังใจให้การประชุมได้บรรลุตามเป้าหมาย และขอให้กระบวนการทำงาน CBR ช่วยเสริมสร้างให้เกิดประโยชน์และคุณูปการต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติสืบต่อไป" นายเอนก กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากนั้นคุณชีวัน ขันธรรม ทีม ODU (สถาบันคลังสมองของชาติ) ได้นำเสนอข้อมูลทบทวนการบริหารโครงการ CBR จากปี 63 สู่ 65 และผู้ประสานงานกลไกทั้ง 4 ภาค ได้ให้ข้อมูลภาพรวมของทั้ง 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ โดย รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนากิจ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย คุณรุ่งวิชิต คำงาม ภาคกลาง โดย รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ และภาคใต้ โดย ดร.มายือนิง อิสอ และในช่วงท้ายมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นนักวิจัยทุกโครงการได้แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล และสรุปความรู้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้งาน CBR และนำเสนอผลการสรุปความรู้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้งาน CBR ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา วช. ได้สนับสนุนงบประมาณในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ให้แก่สถาบันคลังสมองของชาติ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น 4 ภูมิภาค จำนวนทั้งหมด 52 โครงการ ประกอบด้วย โครงการกลไกภาค 4 โครงการ และโครงการย่อย 48 โครงการ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภายใต้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. เศรษฐกิจฐานราก 2. การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ และ 3. การสร้างพลังชุมชน (Empowerment) โดยปัจจุบันโครงการ CBR ปี 2564 ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ