นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในระดับสากล เข้ามาร่วมงานและมีเป้าหมาร่วมกันในการผลักดันลดการใช้คาร์บอนให้เหลือศูนย์ แม้ประเทศไทยยังคงพึ่งพิง พลังงานธรรมชาติ อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ อยู่ประมาณ 86% และสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน 11% ที่ใช้อยู่ร่วมกันกับโรงผลิตไฟฟ้า และการใช้พลังงานหมุนเวียนในส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นการยากที่จะเดินสู่เป้าหมาย เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 แต่ประเทศไทยก็มีความพยายามอย่างมากในการพยายามที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าและผลักดันเรื่องนี้อย่างเข้มแข็งผ่านทางนโยบายของภาครัฐในการให้แรงจูงใจต่างๆ โดยเรากำลังเตรียมแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan 2022) โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถผลักดันนโยบายต่างๆและบรรลุเป้าหมายในการช่วยลดโลกร้อนได้ร่วมกัน และสามารถดึงดูดการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างความยั่งยืนการใช้พลังงานในอนาคตร่วมกันกับประชาคมโลก
ศาสตราจารย์ มาซาคาซึ โทโยดะ ประธานกรรมการ และประธานบริหาร Japan Economic Foundation (JEF) และประธานร่วมการจัดงาน SETA 2022 และ SSA 2022 กล่าวรู้สึกแสดงความยินดีที่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ เพราะโลกกำลังขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่ปราศจากคาร์บอน เทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกกำลังแสวงหา ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือจะสร้างสมดุลย์อย่างไรระหว่างภาคเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ขณะเดียวกันที่เรากำลังกำจัดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ก็เกิดธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจจากพลังงานหมุนเวียน หรือการนำพลังงานมาใช้จากแหล่งกำเนิดใหม่ๆ
โดยประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ช่วงเวลาจากนี้คือช่วง Green Transformation (GX) ที่รัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชนจะทำงานร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การใช้คาร์บอนให้เหลือศูนย์ร่วมกัน ในแง่ของความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่นได้ให้ความร่วมมือทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันลดคาร์บอนในกระบวนการเศรษฐกิจแบบ BCG จะเห็นได้ว่ามีการบรรลุข้อตกลงกันในหลายด้าน เช่น มีการติดตั้ง PV แผงโซล่าร์บนหลังคาโรงงานจากผู้ผลิตในญี่ปุ่น และยังมีบริษัทไทยกับญี่ปุ่นกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เพื่อผลิตพลังงานสะอาด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้จะเป็นรูปธรรม สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันต่อไป
นางวุฒยา หนุนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย ได้แก่ งาน Sustainable Energy & Technology Asia (SETA) 2022 (งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565) และงาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) รวมถึงงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดงานโดยมีผู้เข้าร่วมชมงานเกินเป้าหมายกว่า 11,000 คน การต่อยอดธุรกิจภายในงานคาดว่ากว่าพันล้านบาท ซึ่งเป็นงานในภาคธุรกิจพลังงานอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงปลายปี
นอกจากงานแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ ซึ่งมีการออกบูทจากทั้งผู้ประกอบการในวงการพลังงาน ซึ่งมาจากทั่วโลก การจัดงานมีการแบ่งเป็นโซนชัดเจน Power, Utilities,Grid, IPP/SPP/VSPP, Renewable Energy, Solar, Energy Storage, EV and charging system และ Hydrogen ในงานยังจัดให้งานประชุมนานาชาติ งานสัมมนาภาคภาษาไทย ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และ งานแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ โดยที่เวทีเสวนาพิเศษ มีความหลากหลายมาจากตัวแทนจากหน่วยงานและตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) การไฟฟ้าแห่งเวียดนาม (EVN) การฟ้าแห่งอินโดนีเซีย (PLN) และตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น Indonesia Power, Trilliant, Wartsila, Shell, Mitsubishi, Siemens, ABB, JERA, Toyota และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย ฯลฯ
มร.ริชาร์ด ไอร์แลนด์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ผู้อำนวยการจัดงาน Enlit Asia กล่าวว่า ภายหลังสามปีจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ Enlit Asia 2022 ที่จัดขึ้นร่วมกับงาน SETA 2022, SSA 2022 ที่กรุงเทพในปีนี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณภาครัฐ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคเอกชนไทย และลูกค้า ที่มีส่วนสนับสนุนไว้วางใจเข้าร่วมงาน อีกทั้งยังมีตัวแทน วิทยากร ผู้ร่วมงานที่ให้ความสนใจมาร่วมชมงานตลอดทั้ง 3 วันอย่างคับคั่ง หวังว่าเราจะมีโอกาสกลับมานำเสนอผลงาน และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในประเทศไทยอีกในโอกาสต่อไป
โดยงานในปีนี้มีบริษัทพลังงานชั้นนำเข้าร่วมมากกว่า 350 แห่งและธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโซลูชั่นด้านพลังงานที่ทันสมัย ตลอดจนให้ความรู้ คำแนะนำ และข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดการกับความท้าทายในอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่สนใจในการยกระดับเส้นทางการกำจัดคาร์บอน ภายในงานยังมีพันธมิตรและภาคส่วนต่างๆ หลากหลาย ที่มุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ใช้งานได้จริง
นอกจากนั้น ในส่วนของสัมมนา Power Generation ได้มีการหารือถึงแนวทางปฏิบัติในการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีทำให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานนั้นดีขึ้น โดยมีตัวแทนจากองค์กรระดับโลก เช่น Shell, IBM, Chevron รวมถึงหัวหน้ากลยุทธ์การลงทุนของ NEFIN Group และรองประธานอาวุโส Marubeni Asian Power Singapore มาให้ข้อมูลวิเคราะห์ข้อจำกัดที่สำคัญในการลงทุนโครงการ RE ในอาเซียนมาร่วมงานด้วย ส่วนการแบ่งปันข้อมูลการผลิตกระแสไฟฟ้าและโครงข่ายไฟฟ้า(กริด) เพื่อการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพของโลก ก็ได้ตัวแทนจากหน่วยงานชั้นนำอย่าง กฟผ. ฯลฯ เข้าร่วม
สำหรับประเด็นพูดคุยการปลดล็อคกฎการใช้ไฮโดรเจนเพื่อแนวทางสู่การลดใช้คาร์บอนให้เป็นศูนย์ มีตัวแทนจาก ERIA, ABB, Air Liquide Thailand และรองประธานบริหาร Mitsubishi Power ในเซสชั่นนี้ ผู้ร่วมอภิปรายมองว่าไฮโดรเจนเป็นทางออกที่สำคัญในยุคต่อไป อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมอภิปรายยังพยายามได้เสนอแนวทาง และแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติในการนำไฮโดรเจนมาใช้เพื่อติดตามเส้นทางสู่การแยกคาร์บอนอย่างรวดเร็ว รวมถึงหัวข้อ Hydrogen & RE Development ที่ได้ตัวแทนจาก India Power, Mainstream Renewable Power, รองผู้อำนวยการ EVNHCMC และกรรมการผู้จัดการของ TNB Renewables มาหารือถึงวิธีการ กฎระเบียบต่างๆ ที่จะเร่งการริเริ่มลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนคือต้องขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนร่วมกันทั่วทั้งอาเซียน
แรงเจิล เฟอร์รันดา ผู้อำนวยการฝ่าย บริการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บ.ทรินแลนซ์ (Trilliant) กล่าวยินดีกับความสำเร็จของงาน Enlit Asia 2022 ที่จัดขึ้นหลังจากช่วงโควิดเราไม่ได้จัดงานในลักษณะนี้มานาน บริษัทยินดีสำหรับการสนับสนุนในระดับเพชรและเราเองได้มีโอกาสดูแลลูกค้ารายใหญ่ที่มาร่วมงานนี้ อาทิ TNB, PEA, MEA, Singapore Power และบริษัที่เกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคอื่นๆภายในงาน
กิจกรรมที่จัดเป็นวาระพิเศษภายในงานยังจัดให้มีการมอบรางวัล Enlit Asia 2022 Power & Energy Awards โดย Stanley Huang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มที่ SP Group ได้รับรางวัลเป็นผู้บริหารแห่งปี และ Kirana D. Sastrawijaya หุ้นส่วนอาวุโสของ UMBRA ได้รับรางวัลเป็นผู้บริหารหญิงแห่งปี
อนึ่ง งาน Sustainable Energy & Technology Asia (SETA) 2022 (งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565) และงาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) และงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา
ที่มา: เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง