ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยความเชื่อมั่นว่าการพัฒนาคนคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ธนาคารจึงได้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทย ด้วยการใช้ "กระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา" ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นนักเรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจหลักของเหตุผล พร้อมทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล และจากความสำเร็จของ "โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา" (2556-2561) ธนาคารก็ได้สานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องผ่าน "โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา" ตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน
โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ทำหน้าที่ศูนย์พี่เลี้ยงของโครงการ ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ เน้นพัฒนาจัดการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) ภายใต้สภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของผู้เรียน โดยน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผนวกกับชุดความคิดทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์นิเวศวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา มีกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ระดับครูผู้สอนให้มีองค์ความรู้แบบบูรณาการและทักษะการสอนนักเรียนด้วยโครงงานฐานวิจัย การสร้างโรงเรียนต้นแบบเพาะพันธุ์ปัญญาในจังหวัดน่าน การนำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาไปใช้ในโรงเรียนนำร่อง และเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2-3 เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถคิด วิเคราะห์ ศึกษาหาข้อมูลความรู้ พร้อมกับใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาแก้ปัญหาในท้องถิ่นผ่านโครงงานฐานวิจัย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการระดมความคิดศึกษาค้นคว้าวิจัยปัญหาในท้องถิ่นจังหวัดน่าน และนำเสนอแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านทรัพยากรและการสร้างธุรกิจเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัดน่าน ในการนี้ ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยพะเยาและธนาคาร จึงได้จัดกิจกรรมเวทีประลองปัญญา Eduthon ให้แก่นักเรียนที่ร่วมโครงการ โดยจัดการแข่งขันแบ่งเป็นรอบที่ 1 (23 โรงเรียน) วันที่ 10-11 กันยายน รอบที่ 2 (15 โรงเรียน) วันที่ 17-18 กันยายน และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (6 โรงเรียน) วันที่ 30 กันยายน - วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ณ น่านกรีนเลค วิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน
ทั้งนี้ รอบชิงชนะเลิศเป็นการแข่งขันในโจทย์ "ความลับของบ้านฉัน" ให้นักเรียนคิดค้นโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเป็นอยู่ของชุมชน ในมิติต่าง ๆ อาทิ การรักษาแหล่งน้ำ การจัดการที่ยั่งยืน ความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งจัดหาทรัพยากร แลกเปลี่ยนสินค้า และสร้างรายได้หมุนเวียน ผลการแข่งขันมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา และโรงเรียนนาหมื่น และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวน 3 ได้แก่ โรงเรียนจุนวิทยาคม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 และโรงเรียนปัว
การดำเนินโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาได้สร้างโรงเรียนต้นแบบ 30 แห่ง ครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน และมีการนำเสนอโครงการ 195 โครงการ
ดร.อดิศวร์ กล่าวตอนท้ายว่า ตลอดการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาต่อเนื่องสู่น่านเพาะพันธุ์ปัญญารวมระยะเวลาร่วม 10 ปี ได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และจะสามารถขยายแนวคิดไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อผลิตเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย เพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาของประเทศผ่านทุกสาขาอาชีพได้ ผลสำเร็จที่ยั่งยืนของกระบวนการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญา คือ ทำให้เยาวชนมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยอาศัยฐานความรู้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการแสวงหาคำตอบ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชนและประเทศ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการพัฒนาการศึกษาของประเทศเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ธนาคารกสิกรไทยในฐานะองค์กรเอกชนมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนของชาติอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคาร ที่มุ่งสร้างสังคมไทยให้เติบโต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้า และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ในระดับสากล
ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย