ความสำเร็จที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านงานวิจัย และวิชาการของ สจล. เป็นอย่างมาก โดย รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ที่สภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีมติเห็นชอบให้เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่ง "อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง" พร้อมที่จะเดินหน้าสานต่อความสำเร็จให้ สจล. เพื่อก้าวไปสู่ The World Master of Innovation โดยจากประสบการณ์การบริหาร สจล. มากกว่า 12 ปี จากในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก้าวขึ้นสู่การเป็นอธิการบดี สจล. ที่พร้อมจะพาสถาบันขึ้นมาเป็นแนวหน้าด้านนวัตกรรมในระดับโลก
รศ. ดร.คมสัน สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จาก สจล. โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาได้ทำงานในสายงานวิศวกรรมโยธา โดยได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมโยธา ด้านคอนกรีตและวัสดุ ที่มหาวิทยาลัยโตไก ณ ประเทศญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญด้านคอนกรีตและวัสดุ รวมถึงด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างเป็นพิเศษ โดยทำงานในองค์กรด้านวิศวกรรม ในหลากหลายองค์กร อาทิ อนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร คณะทำงานจัดทำร่าง MOU สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กรรมการดำเนินการประสานงานโครงการฯ ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับมหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น กรรมการอำนวยการตำแหน่งสาราณียกร สมาคมคอนกรีตไทย กรรมการวิชาการสมาคมคอนกรีตไทย และอื่นๆ อีกมากมาย
- ก่อตั้งสถาบันโคเซ็น แห่งแรกของไทย พร้อมพัฒนาหลักสูตร 'ยุววิศวกร' ที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวชื่นชม
สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันชำนาญพิเศษเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มุ่งผลิตวิศวกรชั้นแนวหน้าของโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เริ่มต้นมาจากศูนย์ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้าง "ยุววิศวกร" ที่มีรูปแบบการสอนรูปแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน และกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแก้ปัญหาจากโจทย์ ผ่านกระบวนการคิด ทำงานเป็นกลุ่ม และนำไปสู่การหาคำตอบ หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่บนฐานความรู้เดิม พร้อมทั้งบูรณาการหลักสูตรกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเพื่อยกระดับการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาก็ได้ตอกย้ำความสำเร็จของสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ไปอีกระดับด้วยการมาเยือนของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยได้เยี่ยมชมการเรียนการสอนของสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล ถือเป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญด้านการศึกษาแก่เยาวชนของรัฐบาลทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี
- ปฏิรูปการศึกษา ผลักดันหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์สู่นานาชาติที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเป็นแห่งแรก
รศ. ดร.คมสัน กับประสบการณ์การบริหารงานมามากกว่า 12 ปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดัน สจล. ให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ได้ดูแลนักศึกษากว่า 6,000 คน ทำให้มีความเข้าใจในความต้องการของนักศึกษาเป็นอย่างดี และก้าวเข้าสู่การเป็นคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถึง 2 วาระด้วยกัน โดยมีการผลักดันให้เกิดหลักสูตรนานาชาติ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มากกว่า 12 หลักสูตร และมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการผลักดันหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จ อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ที่พัฒนาร่วมกับจุฬาลงรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการเงิน ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ โดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการของ สจล. และ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เพื่อให้เกิดหลักสูตรที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง
- สร้าง EXPO ด้านวิศวกรรมแห่งแรก ด้วยพลังนักศึกษาให้เปิดผลงานรวมกว่า 500ผลงาน
ในขณะดำรงตำแหน่งคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร. คมสัน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำผลงานของนักศึกษามาจัดแสดง จึงจัด KMITL Engineering Expo ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และเพื่อเป็นแนวทางการต่อยอดนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรมในไทย โดยจัดแสดงนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ ของนักศึกษา สจล. มากถึง 500 ผลงาน นอกจากนี้ยังได้เป็นพันธมิตรกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทย ในการนำผลงานด้านนวัตกรรมมาจัดแสดง นอกจากเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจความรู้ด้านนวัตกรรมและวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ๆ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมให้ไปได้ไกลกว่าเดิม โดยจาก 500 ผลงานที่ผ่านมา รศ.ดร. คมสัน ได้ตั้งใจที่จะผลักดันเป็น 1,000 ผลงานจากนักศึกษาทุกคณะ สจล. เพื่อทำให้พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาเปิดกว้างยิ่งขึ้น
- บุกเบิก FACTory Classroom จากพื้นที่รกร้างสู่มูลค่าเพิ่ม เพื่อสังคม
บุกเบิก FACTory Classroom จัดตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมและบริการทางวิศวกรรมจากพื้นที่รกร้าง เพื่อมุ่งสู่การเป็น The World Master of Innovation โดย FACTory Classroom ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จจากการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำ โดย FACTory Classroom มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรของเกษตรกรไทย และเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้สำหรับนักศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร นอกจากนี้ยังให้บริการเชิงพาณิชย์ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ต่อยอดสุ่การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแปรรูปเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับประชาชน
- บริหารแบบ "รอบด้าน ทุกมุมมอง" ก้าวสู่อธิการบดี สจล.สานต่อวิสัยทัศน์ The World Master of Innovation
รศ. ดร.คมสัน ได้เปิดเผยว่า จากแนวทางการบริหารแบบ "รอบด้าน ทุกมุมมอง" และความสามารถในการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่า และภาคอุตสาหกรรม ขออาสานำ สจล. ด้วยวิสัยทัศน์ The World Master of Innovation ก้าวสู่การเป็นสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำแห่งเอเชีย ซึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนสถาบัน จะเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนวัตกรรมโลก ผ่านนโยบาย Global Innovation Index ที่ครอบคลุมพัฒนาทั้งด้านระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต ต่อยอดเครือข่าย ส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันด้านการเรียนรู้ โดยไม่ละทิ้งค่านิยม FIGHT ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของ สจล. โดยไม่ใช่เพียงแค่สู้ แต่ประชาคม สจล. จะ FIGHT Together สู้ไปด้วยกัน
รศ. ดร.คมสัน ยังมีเป้าหมายในการพา สจล. ไปสู่การเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก หรือ The World Master of Innovation ผ่านนโยบาย 5 Global Innovation Index เพื่อเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษาไทยในทุกมิติให้ตอบโจทย์สถานการณ์โลก โดยล่าสุด สจล. ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเสวนาเพื่อถกประเด็นความมั่นคงทางอาหารร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสจล. มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมอาหาร และวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร เน้นการเพิ่มมูลค่าอาหาร การสกัดและแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออก รวมทั้ง การนำแนวคิดลดขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) มาใช้ โดยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่จากชิ้นส่วนเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งการมีส่วนร่วมการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 - 19พฤศจิกายน 2565 นี้ ถือเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้โชว์ศักยภาพทางด้านเกษตร และอาหารของไทยสู่สายตาชาวโลก
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถาบันฯ ได้ทาง www.facebook.com/kmitlofficial เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์