นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ค่าย "กล้าวรรณกรรม" และค่าย "เซเว่น อีเลฟเว่นถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน" เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเขียนการอ่านการเรียนรู้ของซีพี ออลล์ ในการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธาน "ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสต่อกัน" โดยมีนักเรียนและครูที่ปรึกษาจากทั่วประเทศผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ 103 คน ในรูปแบบค่ายที่เข้มข้นทั้งเนื้อหาสาระและกิจกรรมเสริมทักษะ วัตถุประสงค์ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำความรู้และศักยภาพของตนเองมาใช้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม จึงดำเนินโครงการภายใต้แนวคิด "ความรัก ความหวัง พลังคนรุ่นใหม่" มุ่งเน้นสร้างบุคลากรด้านวรรณกรรมและการ์ตูน ให้มีคุณภาพ ทั้งด้านทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ สามารถใช้สื่อใหม่ ๆ บูรณาการการเรียนรู้ การศึกษา และพัฒนาสังคม รวมถึงสามารถประสบความสำเร็จในด้านการตลาดและลิขสิทธิ์ โดยได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ 4 ท่าน คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ชมัยภร บางคมบาง, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และประชาคม ลุนาชัย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักเขียน นักวาดการ์ตูนมืออาชีพ อาทิ ผศ.สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, ศักดา แซ่เอียว อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย, ดร.พัชรี ลินิฐฎา อุปนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย, นรีภพ สวัสดิรักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย, อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักเขียน นักประวัติศาสตร์ คอลัมนิสต์ แฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์, พินิจ นิลรัตน์ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ กวีซีไรต์, ขวด เดลินิวส์, อิน-ทราย นักเขียนการ์ตูน นักวาดภาพประกอบ, ณภัทร พรหมพฤกษ์ เจ้าของแครักเตอร์ CE และเลขานุการสมาคม TCAP เป็นต้น ซึ่งนักเรียนและครูที่มาเข้าค่ายจะได้รับการถ่ายทอดเทคนิคการเขียน - วาดการ์ตูน ในรูปแบบเวิร์คช็อปที่เข้มข้นหลากหลาย นับเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนสามารถพัฒนางานเขียนสร้างผลงานส่งเข้าประกวดเวทีต่างๆ ด้วยความมั่นใจสร้างสีสันจากพลังคนรุ่นใหม่ให้แวดวงวรรณกรรมไทย" นายประสิทธิ์กล่าว
นางสาวพาณี อิทธิบำรุงรักษ์ (ทราย) และนายอินทรายุทธ เทพคุณ (อิน) นักเขียนการ์ตูน วาดภาพประกอบ ออกแบบแครักเตอร์ วิทยากรพิเศษในค่าย กล่าวว่า "เรื่องการออกแบบแครักเตอร์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งการศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะนำมาใช้ในการออกแบบเรื่องราวหรือแครักเตอร์ ทั้งยังต้องมีวินัยมีความรับผิดชอบ ต้องใช้เทคนิคและประสบการณ์อย่างมาก ซึ่งในค่ายเองก็จะมีการบรรยาย บอกเล่าประสบการณ์ รวมถึงมีกิจกรรมที่สอนให้น้อง ๆ ได้ฝึกใช้ทักษะต่าง ๆ ในการทำงานด้านนี้ด้วย"
นายกวิน สมานศักดิ์ศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จากค่าย "เซเว่น อีเลฟเว่นถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน" หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เพจฯ The Neo เล่าว่า "สนใจมาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะว่าชอบวาดรูปครูศิลปะเห็นแววจึงแนะนำให้มา ในค่ายก็สอนให้รู้ว่าการวาดการ์ตูนไม่ใช่ว่าต้องเป็นการ์ตูนอย่างเดียว แต่ยังสามารถวาดเป็นอย่างอื่นและสร้างรายได้ได้ด้วย ส่วนตัวก็จะนำความรู้ เทคนิคและวิธีการจากตรงนี้ไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งผมอยากเรียนดิจิทัล อาร์ต จะได้นำมาต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตครับ อยากชวนน้อง ๆ ที่ชื่นชอบการวาดแต่อาจจะยังไม่รู้ว่ามีค่ายแบบนี้อยู่ ซึ่งเป็นค่ายที่ดีสามารถเอาความรู้ไปต่อยอดได้ ทั้งยังได้มาเจอเพื่อน เจออาจารย์ เจอนักวาดการ์ตูน จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและมีกำลังใจในการวาดการ์ตูนต่อไป"
นายอาสา กุลวโรตตมะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จากค่าย "กล้าวรรณกรรม" เจ้าของช่อง Earnza ใน YouTube และ TikTok @earn1step กล่าวว่า "คุณพ่อนำโครงการนี้มาบอกต่อซึ่งตนนั้นก็ชื่นชอบในการเขียนนิยายดูการ์ตูนอยู่แล้วจึงลองสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ดู พอได้มาเข้าค่ายก็ได้ทั้งความรู้ในเรื่องการเขียนวรรณกรรม ได้เจอสังคมเจอเพื่อนใหม่ ความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกวดหรือในกิจกรรมจากทางโรงเรียนได้ สำหรับคนที่สนใจนะครับ ค่ายนี้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ได้รับความรู้จากอาจารย์หลายท่าน นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีเลย แนะนำว่าอยากให้ลองมาสมัครกันเยอะ ๆ ครับ"
โดยโครงการค่าย "กล้าวรรณกรรม" และค่าย "เซเว่น อีเลฟเว่น ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 17 ปี ภายใต้นโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ของซีพี ออลล์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 2,162 คน และครูอาจารย์จำนวน 525 คน
ที่มา: ซีพี ออลล์