ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ธนาคารได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีความจำเป็น โดยมุมมองดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างมากระหว่างธนาคารกับรัฐบาล ซึ่งมีปัจจัยในการพิจารณาจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดในธนาคาร สถานะทางกฎหมายของธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจและจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ และการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล
อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. ที่ 'AAA(tha)' สะท้อนว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นระดับที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในประเทศไทยที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้เมื่อเทียบกับบริษัทหรือธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์
มีบทบาทในเชิงนโยบายที่สำคัญต่อรัฐบาล: ธ.ก.ส. เป็นธนาคารรัฐเพียงแห่งเดียวที่มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่เฉพาะตัวและมีความสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและการพัฒนาชนบท ธนาคารมีความชำนาญและได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายรัฐดังกล่าวได้เป็นอย่างดีมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังคงมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและชุมชนในชนบท โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่น ช่วงโรคระบาดโควิด-19 และภัยธรรมชาติ
นอกจากนี้ธนาคารยังคงให้การสนับสนุนโครงการของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งสะท้อนได้จากสินเชื่อและลูกหนี้ที่เป็นธุรกรรมนโยบายรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 29% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้น เดือนมีนาคม 2565
ถูกควบคุมโดยรัฐบาลอย่างใกล้ชิด: กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นใน ธ.ก.ส. ที่ 99.8% และมีอำนาจควบคุมกลยุทธ์ในการดำเนินงานและเป้าหมายในการบริหารงานของธนาคาร เพื่อให้ผลการดำเนินงานของธนาคารสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวของรัฐบาล รัฐบาลมีอำนาจควบคุมคณะกรรมการธนาคารซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง รวมทั้งตัวแทนจากหน่ายงานรัฐอื่น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ
การสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต่อเนื่อง: รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ ธ.ก.ส. มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มทุนและการค้ำประกันเงินกู้ยืม ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของธนาคารจำนวน 6 พันล้านบาทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับเงินชดเชยประจำปีจากการที่ธนาคารให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่เป็นธุรกรรมนโยบายรัฐ
ผลการดำเนินงานเผชิญแรงกดดันที่สูงขึ้น: ธ.ก.ส. มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 0.6% ในปีบัญชี สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโรคระบาดโควิด และผลการดำเนินงานของธนาคารน่าจะยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันต่ออีกในช่วงสองปีข้างหน้าจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่อาจจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ณ สิ้นปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 (จาก 3.6% ณ สิ้นปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564) และอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกจากการที่สินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการผ่อนปรนเริ่มทยอยหมดอายุลง นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรมยังคงมีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น ราคาปุ๋ยและราคาน้ำมัน
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. อาจถูกปรับลดอันดับ หากมีการปรับลดลงของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ ธ.ก.ส. โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากในกรณีเช่น มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารและสถานะการเป็นธนาคารรัฐ มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลและการควบคุมลงอย่างมีนัยสำคัญ และการที่บทบาทในเชิงนโยบายของ ธ.ก.ส. มีการปรับตัวด้อยลงอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
การปรับตัวลดลงของความสามารถของรัฐบาลในการสนับสนุนระบบการเงินไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายใน ประเทศของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์คาดว่าธนาคารรัฐน่าจะมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในระดับที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด
อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ ธ.ก.ส. มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างเครดิตของประเทศไทย
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AAA(tha)'; 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)