นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้าร่วมโครงการมี 34 แห่งทั่วประเทศ การสนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ สามารถใช้ศักยภาพในการจัดการตนเองโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในการจัดการสุขภาพตนเองและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ จะช่วยขยายผลระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน มีส่วนร่วมในการวางแผนการดูแลสุขภาพตนเอง ในอนาคตพื้นที่ รพ.คูเมือง จะเป็น 1 ในต้นแบบของการต่อยอด และขยายผลการจัดบริการโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและมุ่งเน้นคุณค่าสู่การจัดการสุขภาพตนเองและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพต่อไป
พญ.ดวงดาว ศรียากูล ผู้จัดการโครงการฯ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดัน มีปัญหาเชิงพฤติกรรม ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร โครงการนี้จะให้ความรู้ช่วยเหลือคนไข้ในการจัดการดูแลตัวเองมากขึ้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการนำรูปแบบในโครงการไปใช้ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง ซึ่งมีประชากร ประมาณ 30,000 คน คนไข้กระตือรือร้นพยายามเรียนรู้ได้ดีขึ้นถึง 60% จากการส่งเสริมเสริมองค์ความรู้ ในการดูแลตนเอง อาทิ การสร้างความตระหนักก่อนการเจ็บป่วย การเสริมความรู้เกี่ยวกับเบาหวาน อาหาร การเพิ่มการเคลื่อนไหว และ การสร้างแผนสุขภาพส่วนบุคคล การเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย และการจัดการอาหาร
"คาดหวังว่าการขยายพื้นที่ในการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดบริการ ต่อยอดสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ประจำเขตสุขภาพ สามารถยกระดับผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดีขึ้น ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน สามารถจัดการสุขภาพตนเองได้ ช่วยการลดค่าใช้จ่ายต่อหัวของประชากรในประเทศ ตลอดจนเกิดการบูรณาการการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพทั่วประเทศ" พญ.ดวงดาว กล่าว
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)