วันที่ 6 ตุลาคม 2565 นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำเสนอแผนปฏิบัติการดิจิทัลของ ททท. พ.ศ. 2566 - 2570 สอดรับนโยบายชาติ "ปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัล ไทยแลนด์" ร่วมขับเคลื่อน ททท. สู่องค์กรดิจิทัลที่ทำงานด้วยข้อมูล ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์พร้อมขยายแผนบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 27001:2013 ปรับรูปแบบ TAT Review เป็นคลังวิชาการด้านการตลาดท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์ และพัฒนาหลักสูตร TAT Academy มุ่งผลักดัน ททท. เป็นองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization : HPO) ติดอาวุธให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวพร้อมรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอันเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. กล่าวว่า ททท. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายชาติในการปฏิรูปประเทศสู่ดิจิทัล ไทยแลนด์ (Digital Thailand) โดยร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Digital Tourism ร่วมผลักดันให้เกิด Ecosystem ยกระดับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีความรู้ เท่าทันและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ให้สามารถปรับตัวในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิด 3D ได้แก่ Digital Literacy การอบรมให้ความรู้ในด้านการทำการตลาดสมัยใหม่โดยการใช้ข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์วางแผน การใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน ยกระดับศูนย์พัฒนาวิชาการด้านการตลาดท่องเที่ยว (TAT Academy) ซึ่งสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุนชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านการตลาด การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยดำเนินงาน การบริหารและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในปี 2566 ททท. ได้เปิดสอนหลักสูตรการตลาดท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบผ่านระบบการเรียนออนไลน์ และจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม Thai MOOC เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ทั้งยังมุ่งพัฒนา "TAT Review" จุลสารวิชาการด้านการท่องเที่ยวในช่องทางออนไลน์ พร้อมให้เป็นฐานรวมความรู้เชิงวิชาการด้านการตลาดท่องเที่ยว ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรม แนวโน้มสถานการณ์ งานวิจัย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในอนาคต ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลจาก TAT Review Magazine ได้ที่ www.tatreviewmagazine.com หรือ ww.facebook.com/tatreviewmag
Digital Innovation ททท. ยังมีแผนส่งเสริมกลุ่ม Travel Tech และ Start Up ในการพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น Smart Map AI VI เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์อันทรงคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ททท. ในการเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
Digital Investment สนับสนุนการระดมเงินทุนเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการตลาดการท่องเที่ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ททท. พร้อมสนับสนุนข้อมูลโดยมีการพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็น (Data Digitizing) ทั้งข้อมูลที่ใช้ภายในหน่วยงาน และข้อมูลที่จะเผยแพร่สู่หน่วยงานภายนอก เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) ตลอดจนมีการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกหลักในการดำเนินการ (Digitalized Process) รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างนวัตกรรมบริการสารสนเทศ
นอกจากนั้น ททท. ยังมีแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยการจัดตั้งบริษัทในเครือเพื่อรองรับและส่งเสริมให้เกิดการทำกิจกรรมทางการตลาดท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในการเร่งปรับตัว เตรียมรับ และเพิ่มศักยภาพให้สามารถนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ได้ทั้งระบบนิเวศน์ของการพัฒนาการท่องเที่ยว อาทิ จัดทำ Token ที่สามารถใช้เป็นส่วนลดในการใช้บริการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และบริการทางการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวผ่านการตลาดสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีแผนจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน start up สถาบันการศึกษา ชุมชน และทุกภาคส่วน เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ยุคดิจิทัล
สำหรับยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ของ ททท. แบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์การท่องเที่ยว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและผลักดันการใช้โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสารสนเทศ และข้อมูลด้านการตลาดการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการบริหารจัดการดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงอย่างมีธรรมาภิบาล
ททท. ยังวางแผนขยายขอบเขตการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 27001:2013 ระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS) ในขอบเขตระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ให้ครอบคลุมระบบปฏิบัติการและจัดการข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมดำเนินการตรวจสอบช่องโหว่ ตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เพื่อจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศขององค์กร
ทั้งนี้ ด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา มุ่งให้นโยบายและกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้ ททท. มีแผนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมขับเคลื่อนให้ ททท. เป็นองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization : HPO) เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า และมุ่งสู่ความยั่งยืน
ที่มา: แบงค์คอกไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส